• banner

มะเร็งกระเพาะอาหาร รู้ให้ทัน ก่อนจะสาย

มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นภัยเงียบที่มักไม่แสดงอาการชัดเจนในระยะแรก โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยทำงานอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจละเลยสัญญาณเตือนสำคัญจนกว่าจะเข้าสู่ระยะลุกลาม การรู้เท่าทันโรคนี้และใส่ใจตรวจสุขภาพจึงเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันและรักษาให้ทันเวลา

มะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach Cancer หรือ Gastric Cancer) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุผิวกระเพาะอาหารจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง โรคนี้พบมากในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะหลังอายุ 50 ปี ปัจจัยทางพันธุกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตมีบทบาทสำคัญต่อการเกิดโรค

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori (H. pylori) ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในกระเพาะอาหาร
  • การรับประทานอาหารหมักดอง ปิ้งย่าง อาหารแปรรูป หรืออาหารเค็มจัดเป็นประจำ
  • การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร หรือมีโรคทางพันธุกรรมบางชนิด
  • โรคกระเพาะอาหารเรื้อรังหรือมีแผลในกระเพาะอาหาร
  • เพศชาย อายุมากกว่า 50 ปี

สัญญาณเตือนและอาการที่ควรสังเกต
อาการของมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะแรกมักไม่ชัดเจน แต่เมื่อก้อนเนื้อร้ายโตขึ้นจะมีอาการคล้ายโรคกระเพาะอาหารทั่วไป เช่น
  • ปวดท้อง แน่นท้องหรือท้องอืดหลังรับประทานอาหาร
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อาหารไม่ย่อย รู้สึกอิ่มเร็ว
  • คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาเจียนเป็นเลือด
  • ถ่ายอุจจาระสีดำ (เลือดปนในอุจจาระ)
  • กลืนอาหารลำบาก
  • ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โดยไม่ทราบสาเหตุ
หากอาการเหล่านี้เป็นต่อเนื่อง หรือรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยและการตรวจสุขภาพ
การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยที่สำคัญ ได้แก่
  • การส่องกล้องกระเพาะอาหาร (Gastroscopy) เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุด สามารถเห็นแผลหรือก้อนเนื้อร้าย และตัดชิ้นเนื้อไปตรวจได้ในคราวเดียว
  • การตรวจหาเชื้อ H. pylori ด้วยการตรวจเลือด ลมหายใจ หรืออุจจาระ
  • CT scan, PET scan ตรวจดูการกระจายของโรค
คนที่มีอาการผิดปกติ หรือมีปัจจัยเสี่ยงสูงควรตรวจคัดกรองโดยเฉพาะหลังอายุ 50 ปีขึ้นไป

การรักษา
แนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรค ประกอบด้วย
  • การผ่าตัด เพื่อนำก้อนเนื้อร้ายและเนื้อเยื่อรอบข้างออก
  • เคมีบำบัด (Chemotherapy) ทำลายเซลล์มะเร็งที่กระจายไปแล้ว
  • รังสีรักษา (Radiation Therapy) ใช้รังสีพลังงานสูงกำจัดเซลล์มะเร็
  • ยาต้านมะเร็งแบบเฉพาะเจาะจง (Targeted Therapy) และภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) สำหรับบางกรณี

การป้องกัน
  • รับประทานอาหารสด สะอาด หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป ปิ้งย่าง หมักดอง และเค็มจัด
  • เลิกสูบบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์
  • รักษาสุขภาพช่องปากและระบบทางเดินอาหาร
  • ตรวจหาและรักษาเชื้อ H. pylori หากพบว่าติดเชื้อ
  • ตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหรืออายุ 50 ปีขึ้นไป

มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นโรคที่ป้องกันและรักษาได้ หากรู้เท่าทันสัญญาณเตือนและไม่ละเลยการตรวจสุขภาพประจำปี การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงคือกุญแจสำคัญในการลดโอกาสเกิดโรคนี้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
Medical Center: Gastrointestinal and Liver Center
Publish date desc: 02/07/2025

Author doctor

Dr. Warawuti Buranawuti

img

Specialty

Gastroenterologist

Other Specialty

-

Language Spoken

Thai, English

Contact us

Other program