
ปัจจุบันในกลุ่มวัยทำงานจะมีการใช้งานที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยใช้คีย์บอร์ดพิมพ์งาน หรือใช้อุปกรณ์มือถือ แท็บเล็ตเป็นระยะเวลานานในแต่ละวัน ส่งผลทำให้เกิดอาการมือชา นิ้วล็อคได้ ซึ่งถ้ายังปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่สามารถงอหรือเหยียดนิ้วได้เอง ว่าแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลต่อคนทำงานอย่างไรบ้าง เรามีข้อมูลสุขภาพมาบอกค่ะ
มือชา นิ้วล็อค ปัญหาของคนทำงานที่หลีกเลี่ยงได้ยากในยุคดิจิตอลแบบนี้ บางคนทำงานพิมพ์ทั้งวันบนจอคอมพิวเตอร์ หรือใช้มือกดทำงานบนมือถือเป็นหลายชั่วโมงก็มี ทำให้ข้อนิ้วมื้อและข้อมือต้องรับภาระอย่างหนัก นำมาซึ่งปัญหาการปวดข้อมือ แขน ไปจนถึงนิ้วล็อค ในบางรายหากมีการใช้ข้อมือมากๆ เยื่อหุ้มเอ็นเกิดการอักเสบ จากนั้นจะเกิดพังผืดไปกดเส้นประสาทที่ข้อมือจะเกิดอาการชาที่มือ และมืออ่อนแรงได้ในที่สุด
อาการที่พบและการรักษา
มือชา จะมีอาการรู้สึกชาเป็นพักๆ ที่มือ (โดยเฉพาะที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางครึ่งซีก) บางครั้งอาจปวดร้าวขึ้นไปที่แขนหรือหัวไหล่ อาการปวดมักจะเป็นมากตอนกลางคืนหรือตอนเช้ามืดสามารถรักษาด้วยการใช้ยา แพทย์อาจจะให้กินยาต้านอักเสบของเส้นเอ็นและเส้นประสาท และถ้าเป็นรุนแรงก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
นิ้วล็อค เริ่มจากเจ็บโคนนิ้วด้านฝ่ามือ นิ้วฝืด สะดุด กำมือหรือเหยียดมือไม่สะดวก กระเด้ง หรือล็อค อาจล็อคในท่านิ้วงออยู่เหยียดไม่ออก หากงอหรือกำนิ้วมือไว้ จะไม่ยอมเหยียดออกเอง ต้องใช้อีกมือหนึ่งมาช่วยง้างออก มีอาการเจ็บปวดเวลาดึงออก สามารถรักษาด้วยการทานยาเพื่อลดการปวด อักเสบ พักการใช้มือ หรือการนวดเบา ประคบร้อนหรือเย็น บริหารนิ้วเพื่อช่วยให้เคลื่อนที่ได้ปกติ หรือฉีดสารสเตียรอยด์ช่วยลดอาการบวมอักเสบของเอ็น แต่มีข้อจำกัด คือ ไม่ควรฉีดยาเกิน 2 หรือ 3 ครั้ง ต่อนิ้วที่เป็นโรค หากรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดเพื่อรักษาอาการนิ้วล็อค
ป้องกันมือชา นิ้วล็อค ได้อย่างไร
- ปรับท่าทางการทำงานของมือให้เหมาะสม และควรพักมือบ้าง
- ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงข้อมือ เมื่อต้องพิมพ์งานเยอะ ๆ เพื่อให้ข้อมือมีที่พัก
- หมั่นฝึกการใช้ข้อมือ และบริหารข้อมือโดยการเหยียดขึ้น–งอลง เป็นระยะ ๆ
- ประคบด้วยน้ำแข็ง เพียงแช่มือในอ่างน้ำแข็ง 5-10 นาที จะช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้นได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
คลินิกโรคกระดูกและข้อ
โทร. 0 2265 7777