
ติดเค็มเกิดจากอะไร
สาเหตุหลักของการติดบริโภคเค็มมี 2 ปัจจัย คือ 1. ติดเค็มมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากบริโภคเค็มตั้งแต่อายุน้อย อาหารที่คนไทยรับประทานส่วนใหญ่ก็เค็มมากกว่าที่ควรรับประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่พ่อแม่รับประทานเค็มใช้เครื่องปรุงเยอะ เด็กก็อาจติดนิสัยการทานเค็มไปด้วย 2. เพิ่งมาติดเค็มช่วงหลังเนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันคนไทยนิยมอาหารสำเร็จรูป บุฟเฟต์ปิ้งย่าง หมูกระทะ ชาบูที่มากขึ้น ซึ่งอาหารพวกนี้มักมีรสเค็ม เมื่อบริโภคสะสมจะติดรสเค็มโดยไม่รู้ตัว
ผลกระทบจากการติดเค็ม
– โดยปกติไตจะทำหน้าที่ขับโซเดียม เมื่อคนเรารับประทานโซเดียมปริมาณมากเกินกว่าที่ไตจะขับได้ ก็จะทำให้ปริมาณโซเดียมสะสมในเลือดสูง ส่งผลให้ดึงน้ำเข้ามาในหลอดเลือด เกิดภาวะน้ำเกิน เกิดความดันโลหิตสูง การที่ความดันสูงนานๆเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองตีบแตกและโรคต่างๆมากมาย นอกจากนี้ไตต้องทำงานหนักขึ้นในการขับโซเดียมและน้ำส่วนเกินของร่างกาย ผลที่ตามมาคือไตเสื่อมเร็ว จนอาจต้องฟอกไต
– มีข้อมูลว่าคนไทยตายจากการกินเค็มทั้งจากโรคหัวใจ และโรคอัมอัมพฤกษ์อัมพาต ถึง 20,000 คน/ปี
– สำหรับโรคไตเรื้อรังก็มีผู้ป่วยประมาณ 12 ล้านคน หรือ 1/5 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งประมาณครี่งนึงเกิดจากความดันโลหิตสูงจากผลที่ทานเค็ม
พฤติกรรมที่บ่งบอกว่าคุณติดเค็มแล้ว
– เวลาไปทานอาหารนอกบ้าน หรือไปซื้ออาหารก็มักจะเลือกอาหารหรือขนมรสเค็มอย่างแรก
– ติดเครื่องปรุง อาหารทุกมื้อต้องขอน้ำจิ้มมาคู่กันตลอด พออาหารมาเสริฟยังไม่ชิม ก็หยอดเครื่องปรุงแล้ว
– ชอบซดน้ำซุปจนหมดชาม เนื่องจากว่าน้ำซุปเป็นแหล่งของความเค็ม
เคล็ดลับในการลดเค็มสำหรับคนที่ติดเค็ม
ก่อนอื่นสิ่งสำคัญคือต้องทราบก่อนว่าตัวที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาคือโซเดียม เกลือที่รสเค็มหรือโซเดียมคลอไรด์เป็นแค่ส่วนนึงของโซเดียม อาหารที่มีโซเดียมปริมาณมากจะขอแบ่ง 4 ประเภท
1. เครื่องปรุงน้ำปลาซีอิ๊วเต้าเจี้ยว ซอสต่างๆกะปิผงชูรสซึ่งแม้ไม่เค็มแต่มีโซเดียมสูง
2. อาหารแปรรูปแฮมไส้กรอกกุนเชียงหมูยออาหารหมักดอง ซึ่งมีการใส่โซเดียมไนไตรท์เพื่อถนอมอาหารและทำให้สีดูน่ารับประทาน
3. อาหารกระป๋องเช่นผลไม้กระป๋องปลากระป๋องหรืออาหารกึ่งสำเร็จรูปเช่นบะหมี่โจ๊กซุปทั้งชนิดก้อนซองถ้วย ซึ่งมีการใช้โซเดียมเป็นส่วนประกอบของสารกันบูด
4. ขนมอบต่างๆเช่น เค้กคุกกี้แพนเค้กขนมปัง ซึ่งใช้ผงฟูซึ่งจะมีโซเดียมไบคาร์บอเนตเป็นส่วนประกอบ
จากคำแนะนำโดยสมาคมต่างๆ คนเราควรได้รับโซเดียม ไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม แต่ว่าปัจจุบันคนไทยกินเกินไปถึง 3,600 มิลลิกรัม หรือประมาณ 2 เท่า ดังนั้นจึงแนะนำให้คนไทยลดโซเดียมลงจากที่รับประทานอยู่ครึ่งนึง ซึ่งสำหรับคนที่เป็นความดันโลหิตสูงสามารถช่วยลดความดันได้ถึง 2-8 มม.ปรอท
สำหรับวิธีที่จะช่วยลดการรับประทานโซเดียมลงได้ ก็มีอยู่หลักๆ 5 ข้อ
1. อ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้ออาหารต่างๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง นอกจากนี้อีกตัวช่วยคือบางผลิตภัณฑ์จะมีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพซึ่งรับประกันได้ว่าอาหารนั้นๆมีปริมาณโซเดียมที่เหมาะสม
2. ลดซดน้ำแกง น้ำซุปเช่นน้ำก๋วยเตี๋ยวมักมีปริมาณโซเดียมสูงNa > 1500 มิลลิกรัมต่อชาม วิธีนึงที่แนะนำคือเวลากินก๋วยเตี๋ยวด้วยตะเกียบอย่างเดียวไม่ใช้ช้อน เพื่อจะเลี่ยงกินการน้ำแกง
3. ชิมก่อนปรุงเสมอ 75 เปอร์เซ็นต์ ของการบริโภคโซเดียมเกินความจำเป็นของคนไทยมาจากการใช้เครื่องปรุงรส ดังนั้น
– ถ้าปรุงอาหารเองลดเครื่องปรุงรสที่ใส่ตอนทำอาหารเช่นน้ำปลาซอสปรุงรสผงชูรส
– ถ้ากินข้าวนอกบ้านเลี่ยงการปรุงรสเพิ่ม
4. เลี่ยงอาหารแปรรูปเช่นแหนมไส้กรอกหมูแฮมหมูหยอง เลี่ยงอาหารกระป๋องบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอาหารแช่แข็งให้กินอาหารสดหรือกินอาหารแปรรูปให้น้อยที่สุด เนื่องจากอย่างที่บอกไปอาหารพวกนี้มีการใช้โซเดียมปริมาณมากเพื่อถนอมอาหาร
5. หลีกเลี่ยงการรับประทานขนมที่ใช้ผงฟูเช่นซาลาเปา ขนมปัง ขนมเค้ก เบเกอรี่ต่างๆเป็นต้น
จะเห็นว่าอาหารที่มีโซเดียมสูงส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ ความเคยชินในการรับประทานอาหารรสเค็มจัดของคนไทยอาจจะปรับเปลี่ยนได้ยาก เคล็ดลับก็คือ อย่าหักดิบ ถ้าหักดิบไปกินจืดเลยอาจจะทำไม่ได้จนล้มเลิกความตั้งใจไป ให้ลดความเค็มทีละน้อยเช่นเดิมเติมน้ำปลาลงเช่นจากเดิม 3 ช้อนก็เหลือ 1-2 ช้อน เคยจิ้มจนชุ่มก็เหลือครึ่งนึงหรือผิวๆ เราอาจจะไม่สังเกตถึงความเปลี่ยนแปลง สุดท้ายก็จะสามารถลดเค็มลงได้สำเร็จ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777