
สมาร์ทโฟน ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันกันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ ก็จะเล่นมือถือในขณะทำกิจกรรมต่างๆ ไปด้วย เช่น กินข้าว หรือแม้กระทั่งตอนนอน แต่รู้หรือไม่คะว่า หากเป็นเด็กเล็กๆ ติดสามาร์ทโฟน หรือใช้เวลาอยู่ที่หน้าจอทั้งวัน จะส่งผลเสียต่อลูกได้ ความเสี่ยงของโรคที่เด็กจะต้องเจอมีอะไรบ้าง ตามมาดูกันค่ะ
สายตาสั้นเทียม
เนื่องจากเขาต้องจ้องมองมือถือแบบใกล้ๆ ทำให้เกิดทั้งการเพ่ง รูม่านตาหดเล็กลง อีกทั้งแสงในมือถือที่เป็นแสงสีฟ้าที่มีความยาวคลื่นที่สูงกว่าแสงแดดทั่วไป หากได้รับแสงดังกล่าวอาจส่งผลระยะยาวได้ ทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อมเร็วกว่าที่ควร
สมาธิสั้น
สำหรับเด็กในช่วงก่อน 2 ขวบ การเล่นมือถือ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ดูโทรทัศน์ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเด็กๆ จะจดจ่ออยู่กับการเคลื่อนไหวบนจอภาพตลอดเวลา ทำให้เกิดสมาธิสั้นได้ ซึ่งเวลาคุณพ่อคุณแม่จะสอนหรือเสริมพัฒนาการต่างๆ ให้เขา เด็กๆ ก็จะให้ความสนใจน้อยลง และความจำลดลง
ออทิสติกเทียม
เด็กจะไม่สนใจมองหน้าใคร ไม่สนใจจะพูดคุยกับใคร อาจจะพูดช้ากว่าวัย หรือพูดได้แต่ไม่เป็นภาษา ฟังไม่รู้เรื่อง ชอบพูดคำเดิมๆ ซ้ำๆ
พัฒนาการช้า
หากเด็กๆ ยิ่งใช้เวลาหน้าจอมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เขามีพัฒนาการด้านต่างๆ แย่ลงได้เมื่อเทียบกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นขาดทักษะในการสื่อสารและเข้าสังคม ร่างกายไม่แข็งแรง เหนื่อยง่าย พัฒนาการด้านการสื่อสารช้าและพูดไม่ชัด
โรคอ้วน
เพราะการเล่นมือถือเป็นการที่เด็กๆ ไม่ได้ลุกเดิน มีการใช้พลังงานน้อยมาก แค่การนั่งอยู่กับที่เฉยๆ จึงทำให้เกิดโรคอ้วนและอาจทำให้เกิดโรคหลายโรคตามมา เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น
เด็กในวัยแรกเกิด ถึง 6 ขวบ เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของพัฒนาการทางด้านต่างๆ คุณพ่อคุณแม่อาจพาไปเรียนรู้ธรรมชาตินอกบ้าน สวนสาธารณะ และพิพิธภัณฑ์ กระตุ้นการเรียนรู้ส่งเสริมให้เด็กๆได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย จะช่วยให้สมองของลูกได้มีการเรียนรู้และป้องกันผลเสียกับสุขภาพได้ค่ะ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777