
การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) เป็นวิธีหนึ่งในการรักษาภาวะมีบุตรยากแบบปฏิสนธิภายนอกร่างกาย โดยนำเซลล์ไข่และตัวอสุจิไปผสมกันในห้องปฏิบัติการ จากนั้นจะทำการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการฝังตัวและตั้งครรภ์ ซึ่งขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้วจะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง เราตามมาดูกันค่ะ
ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว
- การกระตุ้นไข่ ขั้นตอนแรกของการทำ IVF คือ การฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ ซึ่งเป็นฮอร์โมนเลียนแบบฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง เพื่อเพิ่มการผลิตไข่ให้ได้จำนวนไข่มากขึ้น โดยทั่วไปจะฉีดยาประมาณ 8-12 วัน เริ่มตั้งแต่ประจำเดือนมาวันที่ 2-3 ของรอบเดือน เป็นการเพิ่มโอกาสในการเลือกไข่ที่สมบูรณ์ที่สุดเมื่อผสมกับอสุจิของฝ่ายชาย ระหว่างที่ทำการฉีดยา แพทย์จะทำการตรวจวัดขนาดไข่เป็นระยะโดยการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อเป็นตัวช่วยสำหรับการปรับยาให้เหมาะสมกับขนาดฟองไข่ ป้องกันการตกไข่ก่อนเวลา และยังเป็นการป้องกันการเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกิน
- การเก็บไข่ เมื่อฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตกแล้ว หลังจากนั้นประมาณ 32-36 ชั่วโมง แพทย์จะใช้เข็มดูดไข่ออกมาผ่านทางช่องคลอด โดยดูภาพผ่านจากการอัลตราซาวด์เป็นตัวช่วยบอกตำแหน่งของไข่ ซึ่งแพทย์จะให้ยาชาหรือยาสลบแก่ผู้ป่วยใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที ขึ้นอยู่กับว่ามีจำนวนเซลล์ไข่มากหรือน้อยเพียงใด เพื่อเตรียมปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิต่อไป
- การปฏิสนธิ หลังการเก็บไข่ ไข่ที่ได้จะถูกผสมกับเชื้ออสุจิในห้องปฏิบัติการ เมื่อทำการปฏิสนธิแล้ว หลังจากนั้น 1 วัน ก็จะสามารถตรวจดูได้ว่าไข่กับอสุจิมีการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนหรือไม่
- การย้ายตัวอ่อนกลับเข้าโพรงมดลูก หลังจากปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนแล้ว จะเลี้ยงตัวอ่อนในน้ำยาเพาะเลี้ยงจนตัวอ่อนเจริญเติบโตและแบ่งตัวต่อไปอีก เป็นตัวอ่อนระยะ 6-8 เซลล์ ในวันที่ 3 – 5 หลังจากเก็บไข่ ตัวอ่อนจะถูกย้ายกลับเข้าไปในโพรงมดลูก โดยฉีดกลับเข้าไปในมดลูกผ่านทางท่อที่สอดใส่ผ่านช่องคลอดไปถึงมดลูก ขั้นตอนนี้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับยาชาหรือยาสลบแต่อย่างใด หลังย้ายตัวอ่อนเข้าไป อาจทำให้มีอาการปวดท้องน้อยได้บ้าง เนื่องจากการบีบตัวของมดลูก แนะนำให้นอนพักมากขึ้น งดออกกำลังกาย หรือทำงานหนัก 3-4 วันหลังจากย้ายตัวอ่อน และเมื่อย้ายตัวอ่อนเข้าในโพรงมดลูกแล้ว แพทย์จะจ่ายฮอร์โมนโรเจสเตอร์โรนไปอีก 8-10 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มโอกาสที่ตัวอ่อนจะฝังตัวในโพรงมดลูก และป้องกันการแท้งลูก
อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่ทำการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีนี้ ควรต้องมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้แพทย์สามารถดูแลสุขภาพของผู้ป่วยและทารกในครรภ์ได้ดียิ่งขึ้น
[คะแนนบทความนี้: 2.4]