การตรวจ MRI เป็นการตรวจทางรังสีวินิจฉัยวิธีการหนึ่ง โดยอาศัยหลักการของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ แล้วนำสัญญาณที่ได้มาประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้ได้ภาพอวัยวะในร่างกายที่มีความคมชัด สามารถแยกเนื้อเยื่อของร่างกายที่ปกติและผิดปกติออกจากกันได้

บริการที่ใช้การตรวจด้วยเครื่อง MRI
- ตรวจระบบประสาท (Nervous System)
MRI นำมาใช้ในการตรวจหาความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางมากที่สุด ซึ่งรวมถึงสมอง ไขสันหลัง และกระดูกสันหลัง สามารถตรวจพบความผิดปกติต่างๆ เช่น ก้อนเนื้องอก บริเวณของสมองที่ขาดเลือดไปเลี้ยง นอกจากนี้ยังสามารถตรวจดูเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองว่ามีการตีบหรืออุดตันหรือไม่ โดยไม่ต้องฉีดยาร่วมกับการตรวจ ความผิดปกติแต่กำเนิดของสมอง และบางสาเหตุของโรคลมชักก็สามารถตรวจพบได้ สำหรับไขสันหลัง และกระดูกสันหลัง MRI เป็นการตรวจที่ดีที่สุดสำหรับการวินิจฉัยการยื่นของหมอน รองกระดูกไปกดทับเส้นประสาท หรือช่องไขสันหลังแคบจากกระดูกเสื่อม รวมถึงเนื้องอกในบริเวณนี้ด้วย - ตรวจกระดูกและข้อ (Musculoskeleton System)
การตรวจ MRI ใช้ได้ดีในการตรวจระบบกระดูก ระบบกล้ามเนื้อและข้อ โดยจะสามารถเห็นความผิดปกติภายในโพรงกระดูกหรือไขกระดูกได้อย่างชัดเจน เช่น เนื้องอกภายในกระดูก MRI สามารถบอกขอบเขตของรอยโรคได้ถูกต้องแม่นยำ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการรักษา และในโรคของกระดูกบางอย่าง เช่น การขาดเลือดไปเลี้ยงที่หัวของกระดูกต้นขา การตรวจ MRI เป็นการตรวจที่ไวที่สุด ที่สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ แม้ว่าภาพเอกซเรย์ธรรมดาจะยังปกติอยู่ ข้อที่มีการตรวจ MRI มากที่สุดคือ ข้อเข่า รองลงมาคือ ข้อไหล่ ซึ่งการตรวจด้วย MRI จะสามารถเห็นการฉีกขาดของเส้นเอ็นหรือกระดูกอ่อนภายในข้อ ในขณะที่การถ่ายภาพเอกซเรย์อาจเห็นเพียงเงาของน้ำในข้อ - ตรวจอวัยวะในช่องท้อง
การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นการตรวจคัดกรองที่ใช้มากที่สุดสำหรับอวัยวะในช่องท้อง และเมื่อต้องการดูอวัยวะบางอย่างหรือความผิดปกติให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก็มัก เป็นการตรวจที่เลือกใช้มากที่สุด แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้สารไอโอดีนซึ่งเป็นส่วนประกอบในสารทึบรังสี ที่ใช้ในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือมีความเสี่ยงสูงต่อการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจ MRI ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ใช้บ่อยคือการตรวจหาก้อนในตับ นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจดูทางเดินน้ำดีได้โดยไม่ต้องฉีดสารเหนี่ยวนำแม่เหล็ก (Gadolinium) และยังตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะอื่นๆ ได้เช่น ไต ต่อมหมวกไต เป็นต้น
ที่กล่าวมา เป็นตัวอย่างบางส่วนของการตรวจ MRI การพัฒนาของเครื่องมือและซอฟท์แวร์ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จะทำให้การตรวจ MRI มีมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ภาพที่มีความละเอียดมากขึ้น เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการวินิจฉัยโรค
การเตรียมตัว
ไม่ต้องเตรียมตัว สามารถตรวจได้เลย
ยกเว้น การตรวจช่องท้องส่วนบน (MRI Upper abdomen) และการตรวจทางเดินน้ำดี (MRCP) ควรงดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 4 ช.ม.
ข้อดีของการตรวจ MRI
- การตรวจนี้ปราศจากรังสีเอกซ์แบบที่ใช้ในการถ่ายภาพรังสีธรรมดาและการตรวจเอกซเรย์ คอมพิวเตอร์ จึงไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
- สามารถให้ภาพที่แยกความแตกต่างระหว่าง เนื้อเยื่อต่างๆได้อย่างชัดเจน ทำให้มีความถูกต้อง แม่นยำในการวินิจฉัยโรคมากยิ่งขึ้น
- สามารถทำการตรวจได้ในทุกๆ ระนาบ หรือ ทุกๆ แนวตามต้องการ ไม่ใช่เฉพาะแนวขวางอย่างเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
ข้อจำกัดของการตรวจ MRI
- ใช้เวลาในการตรวจนาน ผู้รับการตรวจต้องให้ความร่วมมือพอสมควร
- ในขณะตรวจ ผู้รับการตรวจต้องเข้าไปอยู่ในช่องแคบๆ ดังนั้น ผู้รับการตรวจต้องไม่กลัวการเข้าไปอยู่ในที่แคบๆ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ของผู้ที่กลัวการเข้าไปอยู่ในที่แคบๆ (claustrophobia) เมื่อได้รับฟังคำอธิบาย หรือเข้าไปดูเครื่องมือใกล้ๆ และลองฟังเสียงที่จะเกิดขึ้นในขณะตรวจ รวมถึงมั่นใจว่า สามารถติดต่อกับผู้ทำการตรวจภายนอกได้ตลอดเวลาก็มักจะคลายความกลัวลง อาจให้ญาติ อยู่ภายในห้องตรวจด้วย หากวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล แพทย์ผู้ส่งตรวจ อาจต้องให้ยานอนหลับ หรือให้ดมยาโดยวิสัญญีแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยหลับขณะตรวจ
- เนื่องจากเป็นการตรวจที่ทำภายในสนามแม่เหล็ก ผู้รับการตรวจต้องถอดเครื่องใช้ หรืออุปกรณ์โลหะที่ถอดออกได้ไว้ภายนอก ส่วนโลหะที่มีอยู่ภายในร่างกายจากการผ่าตัดหรือบาดเจ็บในอดีต แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่า ปลอดภัยต่อการเข้ารับการตรวจหรือไม่ ซี่งส่วนใหญ่แล้วปลอดภัย เช่น เหล็กที่ดามกระดูกหัก แต่อาจทำให้ภาพที่ได้มีสัญญาณรบกวน ถ้าอยู่ใกล้บริเวณที่ทำการตรวจ
ในกรณีต่อไปนี้ ห้ามเข้ารับการตรวจ MRI
- ผู้รับการตรวจที่ฝังอุปกรณ์ที่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในร่างกาย เช่น เครื่องช่วยฟังแบบฝัง เครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจ (Cardiac pacemaker) อาจทำให้เครื่องมือมีการทำงานผิดปกติได้ ปัจจุบันมีเครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจชนิดที่สามารถเข้าในห้องตรวจ MRI ก่อนตรวจควรแจ้งให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ประจำห้องตรวจทราบล่วงหน้า
- ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดใช้คลิปหนีบเส้นเลือดโป่งพองผิดปกติที่สมอง ยกเว้นมีข้อมูลยืนยันว่าคลิปที่ใช้เป็นชนิดที่เข้าเครื่องได้ (MRI competitle)
- ผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุที่ลูกตา และสงสัยว่าจะมีโลหะชิ้นเล็กๆกระเด็นเข้าไปในลูกตาหรือมีอาชีพเกี่ยวข้องกับโลหะ และมีความเสี่ยงต่อการมีโลหะชิ้นเล็กๆ กระเด็นเข้าลูกตา อาจมีการเคลื่อนที่ของโลหะซึ่งก่อให้เกิดอันตรายได้ การถ่ายภาพเอกซเรย์ของตาจะช่วยบอกได้ว่าผู้ป่วยมีโลหะในลูกตาหรือไม่
วันและเวลาทำการ
วันจันทร์-อาทิตย์
เวลา 07.30 – 19.00 น.
สถานที่ตั้ง
ชั้น 1 อาคารวิชัยยุทธเหนือ