• banner

ท้องผูก โรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

หากใครที่มีอาการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนได้ว่ามีอาการท้องผูก เมื่อลำไส้บีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้าในระหว่างที่ย่อยอาหาร ทำให้ไม่สามารถขับถ่ายออกจากระบบทางเดินอาหารได้ตามปกติ จนขับถ่ายลำบาก หากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะท้องผูกเรื้อรังได้

ท้องผูก คือ มีอาการถ่ายอุจจาระผิดปกติอาการใดอาการหนึ่งดังต่อไปนี้ การถ่ายอุจจาระเป็นก้อนแข็ง อุจจาระเป็นก้อนสั้นๆ เล็กๆ ต้องออกแรงเบ่งถ่ายอุจจาระมาก ต้องใช้เวลาเบ่งอุจจาระนาน รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุดหรือถ่ายไม่หมด ต้องใช้นิ้วช่วยล้วงอุจจาระ ไม่มีความรู้สึกปวดถ่ายอุจจาระ หรือถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์

สาเหตุของการเกิดท้องผูก
ท้องผูกเรื้อรังที่ไม่ทราบสาเหตุ
• กลุ่มที่มีการเคลื่อนตัวของลำไส้ใหญ่และการเบ่งเป็นปกติ
• กลุ่มที่มีการเคลื่อนตัวของลำไส้ช้าผิดปกติ (colonic interia)
• การเบ่งอุจจาระไม่มีประสิทธิภาพ เกิดจากการทำงานไม่ประสานกันระหว่างเบ่งอุจจาระและการคลายตัวของหูรูดทวารหนักส่วนนอกและกล้ามเนื้อของอุ้งเชิงกราน (anismus)

ท้องผูกที่เกิดจากโรคหรือจากยาต่างๆ
• มีรอยโรคทางกายวิภาคในลำไส้ใหญ่หรือทวารหนัก เช่น ก้อนเนื้องอกอุดตัน รูทวารหนักมีแผลเป็น และรูทวารหนักตีบแคบ เป็นต้น
• โรคทางต่อมไร้ท่อชนิดต่างๆ
• โรคระบบสมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทชนิดต่างๆ
• ความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย
• ยาต่างๆ ที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่

การวินิจฉัยโรค
• การตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคทางกายและความผิดปกติของเกลือแร่บางชนิดที่เป็นสาเหตุของท้องผูก
• การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ในกรณีผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปี หรือมีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อย หรือมีผู้ป่วยมีอาการเตือน เช่น ถ่ายเป็นเลือด ตรวจอุจจาระมีเลือดปนเปื้อน น้ำหนักลด ซีด เป็นต้น
• การตรวจดูการเคลื่อนตัวของกากอาหารในลำไส้ใหญ่ (colonic transit study) เพื่อดูการเคลื่อนตัวของลำไส้ใหญ่ว่าช้าหรือปกติ
• การตรวจหาความผิปกติของการขับถ่าย
    - Anorectal manometry เป็นการตรวจเพื่อประเมินแรงเบ่งอุจจาระและคลายตัวของหูรูด ทวารหนักขณะเบ่ง ตรวจความรู้สึกของทวารหนัก (rectal sensation) และตรวจรีเฟลกซ์การคลายตัวของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก เมื่อถูกกระตุ้นด้วยลูกโป่ง (RAIR)
    - Balloon expulsion test เป็นการตรวจเสมือนเบ่งถ่ายอุจจาระจริง โดยให้ผู้ป่วยนั่งเบ่งลูกโป่งที่บรรจุน้ำให้ออกในเวลาที่กำหนด

การรักษาท้องผูกเรื้อรัง
1. ปรับเปลี่ยนอาหารและพฤติกรรมการขับถ่าย
    • ทานผักและผลไม้เพื่อเพิ่มกากใยอาหาร เพื่อช่วยเพิ่มการเคลื่อนตัวของลำไส้ใหญ่ให้ดีขึ้น แต่อาจมีผลข้างเคียงได้ เช่น ท้องอืด มีลมมากในท้อง ในกรณีที่ท้องผูกรุนแรง กากใยอาหารอาจไม่ได้ผล
    • ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 1.5 ลิตร
    • ออกกำลังกายทุกวัน อาจเพิ่มการเคลื่อนตัวของลำไส้มากขึ้นได้
    • ไม่ควรกลั้นอุจจาระ เมื่อรู้สึกปวดถ่ายอุจจาระ ควรไปถ่ายทุกครั้ง
    • การฝึกนิสัยการขับถ่ายที่ดี ควรถ่ายอุจจาระให้สม่ำเสมอ แต่ไม่จำเป็นต้องถ่ายอุจจาระทุกวัน เวลาที่เหมาะสม คือ ช่วงเช้าหลังตื่นนอนหรือช่วงหลังอาหาร โดยเฉพาะช่วงหลังอาหารเช้าประมาณ 5-30 นาที จะเป็นช่วงที่ดีที่สุดของการขับถ่ายอุจจาระ เพราะจะมีการเคลื่อนตัวของลำไส้มาก (colonic motor activity) ร่วมกับรีเฟลกซ์การเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารเพิ่มขึ้นหลังรับประทานอาหาร (gastrocolic reflex)
    • ควรให้เวลากับการเบ่งถ่าย ไม่ควรรีบเร่ง
2. การรักษาด้วยยาระบายและยากลุ่มเพิ่มการเคลื่อนตัวของลำไส้
3. การรักษาด้วยการฝึกเบ่ง (Biofeedback) เป็นการรักษามาตรฐานในผู้ป่วยท้องผูกที่เกิดจาการเบ่งอุจจาระไม่มีประสิทธิภาพ (anismus) โดยอาศัยตัววัดสัญญาณที่อยู่ที่หูรูดทวารหนัก สามารถให้รายละเอียดการคลายตัว หรือเกร็งตัวของหูรูดทวารหนักได้ขณะขมิบก้น หรือเบ่งอุจจาระ ส่วนตำแหน่งตัวรับที่อยู่ข้างในสุดจะให้รายละเอียดของแรงเบ่งอุจจาระ ซึ่งจะแสดงเป็นกราฟบนจอคอมพิวเตอร์ให้ผู้ป่วยได้เห็นและเรียนรู้การเบ่งอุจจาระว่าตนเองเบ่งถูกหรือผิดอย่างไร โดยในรายที่เบ่งอุจจาระได้ถูกวิธี เส้นกราฟของตัวรับที่อยู่ข้างในสุดจะโค้งสูงขึ้นแสดงถึงมีแรงเบ่งดีและเส้นกราฟที่อยู่ถัดออกมาจะโค้งต่ำลงแสดงถึงการคลายตัวของหูรูดทวารหนักขณะเบ่งอุจจาระ การรักษาด้วยวิธีนี้สามารถทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถเบ่งอุจจาระได้ถูกต้องและได้ผลดีกว่าการใช้ยาระบาย พบว่าผู้ป่วยประมาณร้อยละ 80 สามารถถ่ายอุจจาระได้เองโดยไม่ต้องใช้ยาระบาย การรักษานี้จะไม่ได้ผลในผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือ หรือไม่สามารถทำตามได้ เช่น ผู้ป่วยมีปัญหาทางจิตหรือความจำไม่ดี ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการสื่อสาร เช่น หูได้ยินไม่ชัด หรือตามองไม่เห็น
4. การผ่าตัด ใช้ในกรณีลำไส้ใหญ่เคลื่อนตัวช้าผิดปกติ และไม่ตอบสนองต่อยาระบาย (โดยที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กต้องทำงานปกติ และผู้ป่วยเบ่งอุจจาระได้ถูกต้องแล้ว) หรือมีกายวิภาคที่ผิดปกติของลำไส้ใหญ่หรือทวารหนัก

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 01/11/2024

แพทย์ผู้เขียน

นพ. ฉัตรชัย เกรียงกิรากูร

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคระบบทางเดินอาหาร

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ