• banner

เลือกอย่างไรดี? การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคมีชีวิตหรือผู้ที่มีภาวะสมองตาย

เมื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไต ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่การรับไตจากผู้บริจาคมีชีวิต หรือจากผู้ที่มีภาวะสมองตาย ก็มีปัจจัยที่จะต้องพิจารณา ในบทความนี้จะช่วยทำให้เข้าใจทั้งสองทางเลือก เพราะการปลูกถ่ายไตไม่เพียงเป็นความหวังในการมีชีวิตที่ยาวขึ้น แต่ยังหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยและความปลอดภัยของผู้บริจาค

การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคมีชีวิต คืออะไร?

ผู้บริจาคมีชีวิต คือ ญาติพี่น้องหรือคู่สมรสที่สมัครใจบริจาคใจบริจาคไตให้กับผู้ป่วย

ข้อดี
• ลดเวลารอคอย สามารถดำเนินการได้ทันทีหลังการประเมินความพร้อมของทั้งผู้รับและผู้บริจาคครบถ้วน
• ไตมีคุณภาพดีกว่าไตจากผู้บริจาคสมองตาย ใช้งานได้ยาวนาน โดยเฉลี่ย 15–20 ปี (เมื่อเทียบกับไตจากผู้บริจาคสมองตาย 8-12 ปี)

ข้อควรพิจารณา
• ผู้บริจาคต้องมีความสมัครใจเต็มที่
• ผู้บริจาคจะเหลือไตอยู่อีก 1 ข้าง ซึ่งสามารถทำงานได้ปกติ อย่างไรก็ตามผู้บริจาคอาจมีความเสี่ยงเหล่านี้ในอนาคต
    - อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง
    - อาจมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ
    - อาจมีการทำงานของไตแย่ลงในอนาคตได้
    - อย่างไรก็ตามโอกาสเกิดไตวายระยะสุดท้ายน้อยมาก (ประมาณ 5 คนใน 10,000 คน ภายใน 1 ปี)
    - สำหรับผู้หญิง หากตั้งครรภ์มีความเสี่ยงเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้
• ผู้บริจาคต้องเป็นญาติหรือคู่สมรสตามกฎหมาย ตามเกณฑ์ดังนี้
  1. ญาติสายเลือดใกล้ชิด
        ◦ พ่อ แม่ ลูก หรือพี่น้องที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน
        ◦ ลุง ป้า น้า อา หลาน (ลูกของพี่หรือน้อง) ลูกพี่ลูกน้อง หรือญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดครึ่งหนึ่ง เช่น พี่น้องต่างบิดาหรือมารดา 
        ◦ ต้องพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมได้
  2. คู่สมรส
        ◦ เป็นคู่สมรสถูกต้องตามกฎหมายมาหรืออยู่กินโดยเปิดเผยมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี
        ◦ หากมีลูกด้วยกัน  ไม่จำเป็นต้องครบ 3 ปี
  3. กรณีชาวต่างชาติ
        ◦ ต้องมีเอกสารจากสถานทูตยืนยันความสัมพันธ์ทางสายเลือดตามข้อ 1. หรือความเป็นคู่สมรส ตามข้อ 2. 
        ◦ ต้องพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมจากสถาบันทางการแพทย์ของรัฐในประเทศไทย

การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคสมองตาย คืออะไร?

• ผู้บริจาคสมองตาย คือ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้วและได้แสดงความประสงค์บริจาคอวัยวะ
• ไตจากผู้บริจาคสมองตายจะถูกจัดสรรโดยสภากาชาดไทยให้ผู้ป่วยที่ลงทะเบียนรอรับ

ระยะเวลารอคอย
• ขึ้นอยู่กับความเข้ากันได้ของไตและลำดับการรอ
• ใช้เวลาตั้งแต่ 1–10 ปี

ข้อดี
• ไม่ต้องพึ่งญาติหรือคนใกล้ชิด

ข้อควรพิจารณา
• ระยะเวลารออาจนานหลายปี
• ไตจากผู้บริจาคสมองตายมีคุณภาพต่ำกว่าไตจากผู้บริจาคมีชีวิต ใช้งานเฉลี่ย 8–12 ปี
• ผู้ป่วยที่ยังไม่ได้ฟอกไตไม่สามารถลงทะเบียนรอรับไตจากผู้บริจาคสมองตายได้ ต้องรับจากผู้บริจาคมีชีวิตเท่านั้น


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคไตและไตเทียม
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 06/05/2025

แพทย์ผู้เขียน

นพ. อธิภัทร์ บรรจงจิตร

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคไต

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

โปรแกรมอื่นๆ