• banner

โรคหลอดเลือดแดงไตตีบคืออะไร

ในปัจจุบันนี้มีคนจำนวนไม่น้อยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งก็จะทำให้มีผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะหัวใจและหลอดเลือด แต่ในที่นี้จะขอพูดถึงผลกระทบที่มีต่อไต ใครจะไปคิดคะว่าเมื่อมีความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานจะทำให้หลอดเลือดในไตหนาขึ้นและตีบ ส่งผลให้เลือดมาเลี้ยงไตน้อยลง ว่าแต่โรคหลอดเลือดแดงไตตีบคืออะไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องความดันโลหิตสูง วันนี้เรามีสาระสุขภาพเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากค่ะ โรคหลอดเลือดแดงไตตีบ คือ โรคที่เกิดจากการที่มีการตีบแคบของเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไต อาจเกิดขึ้นที่ไตหนึ่งข้าง หรือทั้งสองข้าง รวมทั้งการตีบที่แขนงของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไต โดยถ้าตีบมากกว่า 50% ของเส้นผ่าศูนย์กลางของหลอดเลือดจะมีการลดลงของเลือดไปเลี้ยงไต โรคนี้พบมากในผู้สูงอายุที่มีปัจจัยเสี่ยงของเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงและส่งผลให้การเกิดหลอดเลือดแดงตีบแข็ง และส่วนน้อยเกิดจากการที่ผนังของหลอดเลือดแดงที่ไตที่มีพังผืด และมีความหนาตัวขึ้นผิดปกติ โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ส่วนสาเหตุอื่นที่พบได้ไม่บ่อย เช่น หลอดเลือดไตตีบจากโรคหลอดเลือดแดงอักเสบ เป็นต้น การตรวจพบหลอดเลือดไตตีบส่วนมากจะพบโดยบังเอิญในขณะที่ผู้ป่วยไปรับการฉีดสีเพื่อตรวจรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบและฉีดสีดูหลอดเลือดส่วนปลายที่ไปเลี้ยงขา จึงทำให้เห็นว่ามีหลอดเลือดไตตีบ คนที่พบโรคนี้บ่อยจึงเป็นกลุ่มผู้ป่วยผู้สูงอายุ และมีปัจจัยเสี่ยงของ atherosclerosis ส่วนผู้ป่วยอายุน้อยและเป็นความดันโลหิตสูงที่รุนแรง กลุ่มนี้สัมพันธ์กับหลอดเลือดไตตีบชนิด fibromuscular dysplasia ในเพศหญิงบ่อยกว่าเพศชาย นอกจากนั้นเรายังสงสัยว่าผู้ป่วยมีหลอดเลือดไตตีบเมื่อผู้ป่วยมีลักษณะดังนี้
  • เริ่มเป็นความดันโลหิตสูงรุนแรงตอนอายุน้อยกว่า 35 ปี หรืออายุมากกว่า 55 ปี
  • ความดันโลหิตสูงที่ต้องการยาลดความดันโลหิตมากกว่า 3 กลุ่ม
  • ความดันโลหิตสูงที่มีไตเสื่อมร่วมด้วย
  • ความดันโลหิตสูงที่ต้องนอนโรงพยาบาลบ่อยครั้งด้วยหัวใจล้มเหลวและน้ำท่วมปอด
  • ความดันโลหิตสูงที่เคยตอบสนองดีต่อยาลดความดันโลหิตแต่ต่อมากลับไม่ตอบสนอง
  • ความดันโลหิตที่สูงซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบอวัยวะอื่น เช่น หลอดเลือดสมองแตก หรือ หลอดเลือดที่จอตาแตก เป็นต้น
  • ตรวจร่างกายอาจจะพบเสียงผิดปกติจากที่เลือดไหลผ่านหลอดเลือดที่ตีบ (bruit) ที่บริเวณตำแหน่งไต
  • การที่ตรวจพบขนาดของไตทั้งสองข้างไม่เท่ากันจากการทำอัลตราซาวด์ ซึ่งหมายถึงไตข้างที่เล็กกว่ามีการขาดเลือดและฝ่อไป
  • ตรวจเลือดอาจจะพบเกลือแร่โพแทสเซียมต่ำและเลือดเป็นด่าง

การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็นเมื่อสงสัยโรคหลอดเลือดไตตีบ ได้แก่ การตรวจการทำงานของไต การตรวจเกลือแร่ การตรวจปัสสาวะ การตรวจอัลตราซาวด์ดูขนาดของไต และการตรวจดรอปเปอร์อัลตราซาวด์ เพื่อยืนยันวินิจฉัยโรคโดยจะพบความเร็วที่วิ่งผ่านหลอดเลือดส่วนที่ตีบมีความเร็วสูงขึ้น ส่วนการตรวจดูกายวิภาคของรอยตีบจะใช้ทำการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ร่วมกับการฉีดสารทึบแสง หรือตรวจด้วยเครื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI อย่างไรก็ตามการตรวจมีความเสี่ยงต่อการเกิดไตเสื่อมจากการฉีดสารทึบสี ซึ่งก่อนทำการตรวจแพทย์จะให้คำแนะนำต่อผู้ป่วยและเลือกการตรวจที่เหมาะสมต่อไป

การรักษาโรคหลอดเลือดไตตีบ
  • เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลดอาหารเค็ม
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้น้ำหนักเกิน
  • งดสูบบุหรี่
  • การรักษาด้วยยาประกอบด้วย ยาลดความดันโลหิต ซึ่งต้องใช้หลายกลุ่มเพื่อควบคุมความดันโลหิตให้เท่ากับ 130/80 mmHg ยาอื่นๆ ได้แก่ ยาลดคอเลสเตอรอล ยาลดเบาหวาน ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น aspirin เป็นต้น
  • ทำการรักษาโดยขยายหลอดเลือดที่ไตโดยฉีดสีเข้าไปที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ขาหนีบ แล้วใส่บอลลูนและขดลวดไปขยายรอยโรคที่ตีบ
  • ผ่าตัดรักษาหลอดเลือดไตตีบ จะทำในรายที่รอยโรคที่ตีบอยู่ในตำแหน่งที่ใส่ขดลวดไม่ได้

กรณีที่สงสัยว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดไตตีบ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน พูดคุยถึงแนวทางการรักษากับแพทย์การเลือกรับประทานยาก่อน หรือจะไปขยายหลอดเลือดที่ไตเลยขึ้นกับการประเมินผลดีผลเสียของแต่ละวิธี และสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดไตตีบ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคไตและไตเทียม
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 08/04/2022

แพทย์ผู้เขียน

พญ. สุดารัตน์ สีน้ำเงิน

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านโรคไต

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา