• banner

โรคนิ้วล็อค..โรคฮิตยุคดิจิตอล

ปัญหาของคนใช้มือ หรือนิ้วบ่อย ๆ เป็นระยะเวลาต่อเนื่องนาน ๆ หยิบจับอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ช่างตัดผมที่ต้องใช้มือ นิ้วในการจับกรรไกร คนที่ชอบเล่นเกมส์ คนรุ่นใหม่ที่เล่นมือถือบ่อย ๆ หรือคนทำงานออฟฟิศที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ใช้คีย์บอร์ดพิมพ์งาน ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ้วล็อคได้ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอิริยบถหรือการเคลื่อนไหวเสียบ้าง วันนี้เรามีข้อมูลสุขภาพเกี่ยวกับเรื่องนิ้วล็อคว่ามีอาการอย่างไร และจะมีวิธีการรักษาอย่างไรบ้างมาฝากค่ะ โรคนิ้วล็อค เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่งในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคดิจิตอลที่ต้องใช้นิ้วมือกดไลค์กดแชร์กันทุกวินาที จึงทำให้มีการอักเสบของเส้นเอ็นที่ใช้ในการงอข้อนิ้วมือ ทำให้เส้นเอ็นและเยื่อหุ้มหนาตัวขึ้น บางรายพบว่ามีการหนาตัวขึ้นของห่วงรอกหรือปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่เส้นเอ็นนั้นลอดผ่าน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ กำมือได้ไม่เต็มที่โดยเฉพาะตอนเช้า เมื่อใช้มือไประยะหนึ่ง จึงกำมือได้มากขึ้น บางรายเมื่อเป็นมากจะมีอาการนิ้วล็อค เมื่องอนิ้วจะเหยียดนิ้วออกลำบาก อาจเป็นเพียงนิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว จะเป็นนิ้วไหนขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานและอาชีพที่ทำ

อาการที่พบ เริ่มจากเจ็บโคนนิ้วด้านฝ่ามือ นิ้วฝืด สะดุด กำมือหรือเหยียดมือไม่สะดวก กระเด้ง หรือล็อค อาจล็อคในท่านิ้วงออยู่เหยียดไม่ออก หากงอหรือกำนิ้วมือไว้ จะไม่ยอมเหยียดออกเอง ต้องใช้อีกมือหนึ่งมาช่วยง้างออก มีอาการเจ็บปวด เวลาดึงออก หรือบางครั้งอาจจะเหยียดออกแต่เวลางอนิ้วจะงอไม่ลง หรืออาจมีอาการนิ้วชาร่วมด้วย หากปล่อยทิ้งไว้นิ้วมือนั้น ๆ อาจมีการเปลี่ยนรูปเป็นโก่ง งอ บวม เอียง นิ้วเกยกัน นิ้วอาจแข็งทื่อ ไม่สามารถงอเข้าหรือเหยียดออก ทำให้การใช้งานของมือในชีวิตประจำวันลำบาก และไม่สามารถใช้ทำงานได้ หากปล่อยทิ้งไว้ต่อไป ข้อต่ออาจจะยึด และข้อเหยียดไม่ออก ขยับไม่ได้ มีพังผืด รอบข้อนิ้วยึดแข็ง ทำให้มือพิการได้ ปัจจัยที่สำคัญในการเป็นโรคนิ้วล็อค คือ ความแรงในการบีบ กระแทก กำ บด สับ ความถี่ ความบ่อยในการใช้มือกำบีบเครื่องมือ เล่นเกม เล่นมือถือ การใช้คอมพิวเตอร์ทำงานทั้งวัน และความเสื่อมของวัยซึ่งพบในวัย 45 ปีขึ้นไปเป็นมากขึ้น มากสุดช่วงอายุ 50-60 ปี แต่ความสำคัญน้อยกว่าปัจจัยแรก ในผู้หญิงพบมากกว่าผู้ชาย 3-4 เท่า ผู้ชายพบเพียง 20% โรคนิ้วล็อคพบได้ในคนขาไม่ดี เช่น ปวดเข่า ปวดสะโพก ปวดหลัง เพราะใช้ไม้เท้าทำให้ฝ่ามือกดจับด้ามบีบ กำกด อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้เท้า คนที่เป็นเบาหวานมีโอกาสเป็นมากขึ้นกว่าคนปกติ

การรักษาโดยไม่ผ่าตัด (ในกรณีที่มีอาการยังไม่มาก)
  • การรับประทานยาเพื่อลดอาการอักเสบของเส้นเอ็น โดยทั่วไปให้รับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
  • การทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดและบวมของเส้นเอ็น ได้แก่ การแช่พาราฟิน การทำอัลตร้าซาวด์ร่วมกับการนวดและการดัดเพื่อยืดเส้นเอ็นนั้น
  • การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าในเยื่อหุ้มเส้นเอ็นบริเวณตำแหน่งที่เป็น ซึ่งจะลดการอักเสบได้ดีแต่ถ้าฉีดมากกว่า 3-4 ครั้งต่อปีแล้วยังไม่หาย แสดงว่าเป็นมากหรือเป็นนานจนเป็นพังผืด จึงควรพิจารณาผ่าตัด

การรักษาโดยการผ่าตัด (ทำในรายที่เป็นมานานและใช้การรักษาโดยการไม่ผ่าตัดไม่ได้ผล โดยการตัดห่วงรอก หรือปลอกที่เส้นเอ็นลอดผ่านออกไป)
  • วิธีการผ่าตัดมาตรฐาน ผู้ป่วยควรได้รับการผ่าตัดในห้องผ่าตัดที่มีระบบควบคุมการติดเชื้อเป็นอย่างดี มีการใช้เสื้อคลุมผ่าตัดผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว โดยขั้นตอนการผ่าตัดนั้นไม่ยุ่งยาก สามารถฉีดยาชาเฉพาะที่ได้ และผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวดขณะผ่าตัด หลังจากฉีดยาชาเสร็จแล้วทำการลงมีดผ่าตัดโดยแผลจะยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร จากนั้นจะใช้ตัวกันเพื่อให้เส้นประสาทที่วิ่งอยู่ทั้งสองข้างออกไปจะเห็นปลอกหุ้มเส้นเอ็นออก และศัลยแพทย์ยังสามารถมองเห็นการเคลื่อนที่ไปมาของเส้นเอ็นได้โดยตรง จากนั้นทำการเย็บแผลปิดประมาณ 2-3 เข็ม ซึ่งถ้าทำโดยศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญแล้ว โอกาสเกิดข้อแทรกซ้อนแทบจะไม่มีเลย
  • วิธีการผ่าตัดแบบปิด วิธีการนี้เริ่มเป็นที่รู้จักกันในประเทศไทย เริ่มแรกจะทำการใช้เข็มเข้าไปเขี่ยและตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นออกโดยไม่ต้องมีแผล พบว่ามีข้อแทรกซ้อนค่อนข้างสูง คือ มีการบาดเจ็บของเส้นประสาท โดยเฉพาะบริเวณนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งตำแหน่งของเส้นประสาทจะใกล้ปลอกหุ้มเส้นเอ็นมากประมาณ 2-3 มิลลิลิตร และอาจมีการบาดเจ็บของเส้นเอ็นที่อยู่ใต้ปลอกหุ้มเส้นเอ็นด้วย ต่อมามีการพัฒนาเครื่องมือให้ดีขึ้นแต่ยังมีข้อแทรกซ้อนถ้าไม่ชำนาญ เนื่องจากเป็นการรักษาแบบวิธีปิด ซึ่งใช้แต่ความรู้สึกและประสาทสัมผัสในขณะผ่าตัด โดยที่ไม่สามารถเข้าไปมองเห็นปลอกหุ้มเส้นเอ็นได้โดยตรงประกอบกับปลอกหุ้มเส้นเอ็นในบริเวณนี้มีการเคลื่อนไหวไปมาได้ ทำให้มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บของเส้นประสาทหรือเส้นเอ็นภายในโดยไม่ได้ตั้งใจ อีกทั้งยังมีปัญหาในเรื่องของความสะอาดถ้าไม่ได้ทำในห้องผ่าตัด ซึ่งถ้ามีเชื้อโรคหลุดเข้าไปในเนื้อเยื่อหุ้มเส้นเอ็นนั้น จะเกิดการติดเชื้อที่มีข้อแทรกซ้อนที่รุนแรงมากตามมาได้ จึงเป็นข้อห้ามในผู้ป่วยบางกลุ่มได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยรูมาตอยด์ เป็นต้น

โดยความเห็นของศัลยแพทย์ทางมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนมากยังไม่แนะนำให้เป็นวิธีรักษามาตรฐานของการรักษาโรคนิ้วติดสะดุดหรือโรคนิ้วล็อค แต่การผ่าตัดมาตรฐานแบบเปิดโดยแผลยาวแค่ 1-1.5 เซนติเมตรใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 5-10 นาที สามารถใช้ยาเฉพาะที่ได้และทำในห้องผ่าตัดที่สะอาดจะปลอดภัยกว่ามาก อีกทางเลือกหนึ่ง คือ การผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้องซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายของเครื่องมือที่เพิ่มขึ้นแลกกับขนาดแผลที่เล็กลง

การดูแลหลังผ่าตัด
ผู้ป่วยควรกำและเหยียดนิ้วมือให้สุด และควรยกมือสูงในช่วง 2 วันแรก ไม่ควรให้แผลถูกน้ำ โดยทั่วไปจะตัดไหมประมาณ 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด หลังจากนั้นจึงสามารถใช้มือได้ตามปกติ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคกระดูกและข้อ
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 08/04/2022

แพทย์ผู้เขียน

นพ. สัญญา ประชาพร

img

ความถนัดเฉพาะทาง

ศัลยแพทย์ทางด้านโรคกระดูกและข้อ

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ