
Working women ยุคนี้ ต้องยอมรับเลยว่า เก่ง แกร่ง และเป็นลีดเดอร์ได้ดีไม่แพ้ผู้ชายเลยก็ว่าได้ ยิ่งมีการงานที่มั่นคง เครือข่ายสังคมที่ต้องเทคแคร์ คอนเนคชั่นต่าง ๆ ที่ต้องใส่ใจแล้วละก็เธอคนนั้นยิ่งดูมั่นและเก่งเข้าไปอีก แต่ลืมอะไรไปหรือเปล่า? ว่าการเต็มที่กับชีวิตทำงานขนาดนี้ เรื่องครอบครัว หรือคุณพ่อ คุณแม่ที่เราต้องดูแลหละตอนนี้ยังดีกันอยู่ไหมนะ!!
เรื่องลับ ๆ ที่อยู่ในใจผู้สูงอายุ
ถ้าคุณมีการมีงานที่ต้องใส่ใจ ก็อย่าลืมหันมาเติมเต็มความรักให้กับคุณพ่อคุณแม่ที่บ้านบ้างนะคะ เพราะการอยู่คนเดียวสำหรับผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย ยิ่งลูก ๆ กลับบ้านมืดค่ำแล้วล่ะก็ ยิ่งเกิดความเป็นห่วง กังวลเข้าไปใหญ่ จนบางครั้งอาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย และจิตใจ และอาจลามไปถึงโรคภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นง่ายกับผู้สูงอายุ โดยศัตรูตัวฉกาจประจำโรคคนแก่นั้นก็คือ “โรคอัลไซเมอร์”
ข้อควรระวังเมื่อคุณพ่อคุณแม่ เริ่มเป็นอัลไซเมอร์
เมื่อพูดถึงโรคอัลไซเมอร์แล้ว โดยปกติกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์อยู่ในช่วงอายุ 65 เป็นต้นไป และจะพบอาการต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุเริ่มมากขึ้น แล้วเราจะสังเกตได้อย่างไรว่าคุณพ่อคุณแม่เริ่มมีอาการของอัลไซเมอร์ เราลองมาดูกัน
➤ ระยะเริ่มต้น ระยะนี้สังเกตไม่ยาก ผู้ป่วยที่เริ่มเป็นอัลไซเมอร์จะค่อย ๆ มีความจำลดลง ชอบพูดซ้ำ ถามซ้ำ เริ่มมีความเครียด อารมณ์แปรปรวนง่ายบวกกับอาการซึมเศร้าให้เห็น แต่ยังสื่อสาร และทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ
➤ ระยะกลาง ระยะนี้จะเห็นชัดมากขึ้น กล่าวคือ ความจำเริ่มแย่ลงเรื่อย ๆ เดินไปนอกบ้านโดยไม่มีเป้าหมาย หรือพฤติกรรมส่วนตัวเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือก็มี เช่น เมื่อก่อนเป็นคนใจเย็น แต่ตอนนี้มีอารมณ์โกรธง่าย ก้าวร้าว ใช้คำหยาบคาย หรือจากคนที่เคยโมโหง่ายจะกลายเป็นคนเงียบ ๆ เลยก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน
➤ ระยะสุดท้าย ระยะนี้ต้องใช้ความเข้าใจ และอนทนมาก ๆ ในการดูแล เพราะร่างกายผู้ที่ป่วยจะเริ่มทำอะไรช้าลง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แล้ว ที่สำคัญภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง และเสียชีวิตในที่สุด
“ใกล้ชิด เข้าใจ เอาใจใส่ … หัวใจสำคัญของโรคอัลไซเมอร์”
คนแก่ควรตรวจสุขภาพบ่อยแค่ไหนถึงจะดี
เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องใกล้ตัว การก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุวัยไหนก็ตาม ก็ควรตรวจสุขภาพทุก ๆ 1 ปี แต่สำหรับผู้สูงอายุควรใสใจเป็นพิเศษ เพราะวัยนี้เสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย เราจึงควรสละเวลาสักนิด เพื่อพาท่านไป เพื่อความสบายใจและไม่สายเกินไป การตรวจสุขภาพทุกปี ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่เพื่อป้องกันโรคนั้น ๆ ได้ทันเวลา โดยจุดที่จำเป็นต้องตรวจจะมีรายละเอียด ดังนี้
➤ การตรวจตา ตรวจหาความผิดปกติของระบบประสาทตา รวมถึงต้อหิน ต้อกระจก สายตาสั้น และสายตายาว ควรตรวจทุก ๆ 2-4 ปี
➤ การตรวจหู ตรวจหาภาวะประสาทหูว่าเริ่มเสื่อมหรือไม่ และควรตรวจทุก ๆ ปี
➤ ตรวจภายใน ตรวจเพื่อหามะเร็งปากมดลูก อย่างน้อยปีละครั้ง ถ้าผลปกติ 3 ปีติดต่อกัน ก็สามารถตรวจทุก 3 ปีได้
➤ ตรวจเต้านม ตรวจเพื่อหาก้อนเนื้อมะเร็ง ควรหมั่นพบหมอทุก ๆ 3 ปี
➤ ตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน เมื่ออายุเลยเลข 45 ปีไปแล้ว ควรตรวจทุก ๆ 3 ปี และควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเป็นประจำ
➤ ตรวจสุขภาพจิต โรคที่พบบ่อย คือ โรคซึมเศร้า และภาวะสมองเสื่อม หากตรวจพบโรคนี้คนรอบตัวต้องคอยสังเกต และเอาใจใส่ผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
ความสุขวัยเกษียน เทคนิคง่าย ๆ ที่คนรอบข้างทำให้ผู้สูงอายุได้
สิ่งแรกที่เราต้องทำเมื่อต้องดูแลผู้สูงอายุเลย ก็คือ ต้องเข้าใจ ยอมรับปัญหา และความต้องการของผู้สูงอายุให้ดีเสียก่อน เช่น
➤ พูดคุยสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ในเชิงบวก ไม่ใช้คำพูดทำร้ายจิตใจ และคำพูดที่ไม่ให้เกิดความเครียด ความกังวลที่กระทบต่อจิตใจของท่าน
➤ เปลี่ยนบรรยากาศ ควรหาเวลาว่างพาท่านไปเที่ยวพักผ่อน พาเข้าสังคม พบปะญาติพี่น้อง เพื่อน ๆ ของท่าน เพื่อป้องกันความซึมเศร้าที่อาจเกิดขึ้นได้
➤ มีความใจเย็น ไม่ว่าจะทำอะไรให้ท่าน ต้องอาศัยความใจเย็นเป็นพิเศษ เพราะท่านอาจมีอาการ เช่น หลงลืม พูดซ้ำ ฯลฯ เราก็ควรที่จะเข้าไปพูดคุย และอธิบายให้เกิดความเข้าใจให้ตรงกัน
“เพราะความแก่มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเข้าใจ และยอมรับจะพบความสุขในการอยู่ร่วมกัน”
ที่สำคัญอย่าลืม หากพบปัญหาสำหรับผู้สูงอายุ อย่าปล่อยให้เป็นเรื่องปกติ รีบพาท่านไปปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ท่านอยู่กับพวกเราอย่างมีความสุขไปอีกนาน