ศูนย์ฝังเข็ม
การรักษาด้วยการฝังเข็มเป็นการรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการฝังเข็มแนวใหม่ (Modern Acupuncture) ซึ่งเป็นการผนวกภูมิปัญญาการฝังเข็มแบบดั้งเดิมกับความรู้ความเข้าใจในงานวิจัยทางการแพทย์สมัยใหม่เข้าด้วยกัน
การฝังเข็มให้ผลการรักษาอย่างไร
• เกิดการหลั่งสารต่างๆ ในร่างกายในระบบ Neuro Endocrine และ Cytokine หลายชนิด Hormone บางอย่าง เช่น Steroid Endorphin Serotonin และ Neurotransmitter ต่างๆ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดทั้งในระบบประสาทส่วนกลาง ระบบประสาทส่วนปลายและกลไกของร่างกายทั้งหมด ทำให้เกิดฤทธิ์ระงับความเจ็บปวด ลดการอักเสบ ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ปรับปรุงการทำงานของระบบประสาทและสมอง ทำให้จิตอารมณ์แจ่มใส สารเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในร่างกายตามธรรมชาติอยู่แล้ว จึงแตกต่างจากยาที่เรากิน หรือฉีดเข้าไป เพราะไม่มีพิษ ไม่มีฤทธิ์แทรกซ้อน ที่สำคัญร่างกายมีกลไกในการควบคุมอีกชั้นหนึ่ง (Negative feedback) จึงไม่มีโอกาสหลั่งสารออกมาจนเกินขนาด
• เกิดการกระตุ้นให้มีการปรับตัวของระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งควบคุมเส้นโลหิต และการทำงานของอวัยวะภายในทั่วร่างกาย จึงเป็นผลช่วยรักษาภาวะที่อวัยวะต่างๆ และแขนขาขาดเลือดหล่อเลี้ยงการปรับการทำงานของอวัยวะเป็นแบบควบคุม 2 ทาง (Bi-directional regulation) กล่าวคือ หากอวัยวะทำงานมากเกินไปก็จะทำให้ลดลง อวัยวะใดทำงานน้อยไปก็จะปรับให้มากขึ้น เช่น การปวดประจำเดือน (primary dysmenorrhea) ซึ่งเกิดจากการบีบรัดตัวที่รุนแรงของมดลูก การฝังเข็มจะทำให้มดลูกบีบตัวลดลง จึงช่วยลดอาการปวดได้ดี และในเดือนต่อไปก็จะปวดลดลงไปเรื่อยๆ เพราะมดลูกค่อยๆปรับการบีบตัวให้ลดลงจนเป็นปกติ อาการท้องอืด โดยเฉพาะหลังผ่าตัดช่องท้อง เกิดจากการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ยังไม่ฟื้นตัว การฝังเข็มจะช่วยกระตุ้นให้กระเพาะอาหารและลำไส้เริ่มทำงานใหม่ทำให้ท้องอืดหายไปเร็ว และการขับถ่ายเป็นปกติเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตามผลการรักษาในคนไข้แต่ละคนจะได้ผลดีไม่เท่ากัน ขึ้นกับการตอบสนองต่อการฝังเข็มที่แตกต่างกันขึ้นกับระยะเวลาที่เป็นโรคนั้น หากเป็นเรื้อรังมานานผลก็จะไม่ดีเท่าผู้ที่เป็นมาไม่นาน ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคที่เป็นและสภาพร่างกายของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอมากอาจไม่ได้ประโยชน์มากจากการรักษา จึงควรปรึกษาแพทย์หลังจากได้ศึกษาเอกสารให้ความรู้เรื่องฝังเข็มแล้ว ก่อนตัดสินใจทำฝังเข็ม
การฝังเข็มมีอันตรายหรือไม่
จากรายงานการวิจัยขนาดใหญ่ถึงผลการศึกษาภาวะแทรกซ้อนจากการฝังเข็มที่ลงตีพิมพ์วารสาร BMJ ปี 2001 2 รายการ ซึ่งเป็นการศึกษาไปข้างหน้า (Prospective study) โดย Adrian White และคณะกับ Mc Pherson H. และคณะ พบว่าเกิดภาวะแทรกซ้อน 14 ครั้งต่อการรักษา 1 หมื่นครั้ง และไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเมื่อทำการรักษา 30,000 ครั้งโดยแพทย์และนักกายภาพบำบัดที่ได้รับการฝึกสอนมาอย่างดี ส่วนใหญ่จะเป็นการลืมเข็ม ลืมคนไข้ เป็นลม อ่อนเพลีย รอยเขียวช้ำที่จุดฝังเข็ม
อย่างไรก็ตาม การทบทวนรายงานจากทั่วโลกถึงภาวะแทรกซ้อนจากการฝังเข็มในรอบ 27 ปี (1966-1993) มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง 216 รายที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะเยื่อหุ้มปอดทะลุ เส้นประสาทได้รับอันตราย เส้นโลหิตได้รับอันตราย เส้นเลือดออกในเยื่อหุ้มหัวใจ เข็มเข้าไปในข้อ เลือดออกในก้านสมอง เป็นต้น
วิธีการฝังเข็ม โดยทั่วไปมี 2 วิธี คือ
1. การปักเข็มขนาดเล็กๆ บนจุดฝังเข็มที่มีผลต่อการรักษาโรค แล้วคาเข็มไว้ 20-30 นาที จากนั้นกระตุ้นเข็มด้วยวิธีต่างๆ หรือไม่กระตุ้นก็ได้ แล้วเอาเข็มออก วิธีนี้แท้จริงควรเรียกว่า “การปักเข็ม” เพราะไม่ได้ฝังลงไปจริงๆ และเป็นวิธีที่ปลอดภัยมีภาวะแทรกซ้อนน้อย
2. การฝังเข็มเล็กๆ ลงไป หรือปักคาเอาไว้เป็นเวลานานอาจเป็นหลายวัน สัปดาห์หรือเป็นเดือน วิธีนี้อันตรายเพราะมีรายงานว่าเข็มเคลื่อนไปทำอันตรายต่อก้านสมองหรือเข้าไปในข้อ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยแพทย์มักจะเลือกใช้วิธีที่ 1 เสมอ