• banner

มารู้จักโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดกันเถอะ

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเป็นโรคหัวใจในเด็กที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากความผิดปกติของขั้นตอนการสร้างหัวใจตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา อาจแสดงอาการตั้งแต่แรกเกิดหรือเพิ่งเริ่มสังเกตเห็นอาการตอนโตขึ้น ซึ่งบางรายอาจมีอาการไม่รุนแรงมากและไม่ต้องรับการรักษา ในขณะที่บางรายอาจเกิดความพิการที่ซับซ้อนและต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษา สาเหตุของการเกิดโรคหัวใจแต่กำเนิดไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยหลาย ๆ อย่างร่วมกัน เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรมในครอบครัวของฝ่ายบิดาและมารดา ความเจ็บป่วยของมารดาขณะตั้งครรภ์ 2 เดือนแรก เช่น เป็นไข้หวัดใหญ่ ไข้ไวรัสอื่น ๆ และสิ่งแวดล้อมเป็นพิษจากสารปนเปื้อนในอาหาร สารเคมีที่สัมผัสในชีวิตประจำวัน เป็นต้น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  • โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดที่มีอาการตัวเขียว เป็นลักษณะของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่มีทางติดต่อของหัวใจผิดปกติ และเกิดการเปลี่ยนแปลงของความดันเลือดภายในหัวใจ ทำให้หัวใจไม่ได้รับออกซิเจนในเลือดเพียงพอ ทารกที่เกิดมาพร้อมกับภาวะนี้จะมีอาการเขียวโดยเฉพาะปลายมือ ปลายเท้า ริมฝีปากมาแต่กำเนิดหรือค่อยๆ เขียวมากขึ้นหลังคลอด
  • โรคหัวใจพิการชนิดไม่มีอาการตัวเขียว เป็นภาวะที่เลือดมีออกซิเจนเพียงพอแต่กลับไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างที่ควรจะเป็น ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะพบว่าเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการไปจนถึงมีอาการหอบเหนื่อยเนื่องจากมีภาวะหัวใจวาย มีความดันโลหิตสูงค่อนข้างมากจนทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น

อาการสำคัญที่พบในโรคหัวใจแต่กำเนิด
- อาการเหนื่อย อาจเรียกว่าภาวะหัวใจล้มเหลว มารดาจะสังเกตได้จากการหายใจแรงและเร็วกว่าเด็กปกติ ยิ่งเวลาดูดนมจะสังเกตชัดถึงอาการหายใจเร็วเหนื่อยยิ่งขึ้น
- น้ำหนักขึ้นน้อย เติบโตช้า ตัวเล็กกว่าเด็กวัยเดียวกัน
- อาการเขียว โดยทั่วไปมักมีอาการทันทีภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิด สังเกตได้จากริมฝีปากและปลายนิ้วมือนิ้วเท้ามีสีม่วงคล้ำ
- ติดเชื้อทางเดินหายใจซ้ำบ่อย ๆ
- เจ็บหน้าอกเวลาเล่นออกแรง
- ใจสั่น ใจสะดุด ใจเต้นเร็ว หรือเป็นลม

การวินิจฉัยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นการตรวจที่ให้ข้อมูลการวินิจฉัยได้แม่นยำ จะแสดงภาพหัวใจ เพื่อดูการเคลื่อนไหวและความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ ผนังหัวใจ และลิ้นหัวใจ มักใช้ตรวจหลังจากทารกคลอดออกมาแล้ว หรืออาจอัลตราซาวด์ตรวจทารกที่ยังอยู่ในครรภ์ได้ด้วยเช่นกัน
- การถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อตรวจดูว่าหัวใจของผู้ป่วยมีขนาดโตขึ้นหรือมีน้ำคั่งในปอดหรือไม่
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยความผิดปกติของหัวใจและจังหวะการเต้นของหัวใจ
- การวัดออกซิเจนในเลือดและชีพจร เพื่อวัดว่ามีออกซิเจนในเลือดมากน้อยเพียงใด
- การสวนหัวใจและหลอดเลือด แพทย์จะใช้ท่อขนาดเล็กที่โค้งงอได้สอดผ่านหลอดเลือดบริเวณแขนหรือขาไปยังหัวใจ จากนั้นจึงใส่สารย้อมสีผ่านท่อไปด้วย ก่อนจะเอกซเรย์ดูภาพภายในหัวใจ เพื่อให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การรักษาหัวใจพิการแต่กำเนิด
- การใช้ยา แพทย์จะสั่งจ่ายยาที่ช่วยให้หัวใจของผู้ป่วยทำงานได้ดีขึ้น เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาขยายหลอดเลือด (ลดความดัน) ซึ่งยาเหล่านี้ควรให้ด้วยความระมัดระวัง
- การผ่าตัดหัวใจ แพทย์อาจต้องผ่าตัดเปิดหัวใจเพื่อปิดรอยรั่วในหัวใจ ซ่อมแซมลิ้นหัวใจ ขยายหลอดเลือด เป็นต้น
- การสวนหัวใจและหลอดเลือด เป็นการผ่าตัดที่ใช้ท่อที่คล้ายกับท่อที่ใช้ระหว่างการวินิจฉัย สอดเข้าไปในหัวใจและใช้เครื่องมือลอดผ่านสายสวนเข้าไปแก้ไขความผิดปกติในหัวใจ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
คลินิกโรคหัวใจและหลอดเลือด
โทร. 0 2265 7777 
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 18/09/2019

แพ็กเกจอื่นๆ