• banner

โรคเบาหวานกับไต

โรคเบาหวานเกิดจากความผิดปกติในการควบคุมระดับน้ำตาลของร่างกายซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับอวัยวะต่าง ๆ ได้ ไตก็เป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่หลีกหนีเบาหวานไม่พ้น ว่าแต่โรคเบาหวานจะมีผลต่อไตอย่างไรบ้าง เรามีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาบอกค่ะ

โรคเบาหวานมีผลต่อไตอย่างไร ไต เป็นอวัยวะสำคัญซึ่งทำหน้าที่หลายอย่าง ไม่วาจะเป็นขับถ่ายของเสียออกทางปัสสาวะ ดูดซึมและเก็บสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รักษาปริมาณน้ำ เกลือแร่ และกรด-ด่างของร่างกายให้สมดุล สร้างสารกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดและฮอร์โมน ช่วยควบคุมความดันโลหิต เมื่อเป็นเบาหวานนาน ๆ จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางไตได้ ดังนี้
  • อาการบวม เกิดขึ้นเมื่อไตทำงานน้อยกว่าปกติ หรือเกิดจากร่างกายสูญเสียโปรตีนทางปัสสาวะมาก ทำให้ระดับโปรตีนในเลือดต่ำ ส่งผลให้เกิดอาการบวม
  • กระเพาะปัสสาวะ สำหรับผู้ป่วยเบาหวานจะมีความผิดปกติในระบบขับถ่ายปัสสาวะ ทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้บ่อย เมื่อถ่ายปัสสาวะต้องเบ่งแรง ปัสสาวะออกมาทีละน้อยและบ่อย เมื่อตรวจปัสสาวะจะพบว่ามีแบคทีเรียและเม็ดเลือดขาวปะปนอยู่
  • ไตวายเรื้อรัง เมื่อเป็นเบาหวานมานาน เนื้อไตและหลอดเลือดเสื่อมสภาพ ไตทำงานน้อยลงจนไม่สามารถรักษาให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ เมื่อการทำงานของไตเสียไป จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซีด ความดันโลหิตสูง คลื่นไส้ อาเจียน
  • ไตอักเสบจากการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลัง และเป็นไข้ จะพบว่ามีแบคทีเรียและเม็ดเลือดขาวปนในปัสสาวะ
  • ไตวายเฉียบพลัน เกิดขึ้นเมื่อรับประทานยาบางชนิดที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเนื้อไต และเลือดที่ไปเลี้ยงไตลดลง ทำให้ปัสสาวะออกน้อยลงและมีของเสียคั่งในเลือด

จะรู้ได้อย่างไรว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนทางไต ระยะแรกที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไตมักจะไม่แสดงอาการ จะรู้ได้จากการตรวจปัสสาวะพบโปรตีนเท่านั้น ในระยะหลังของโรคจะมีอาการบวม ซึ่งอาจเกิดจากการสูญเสียโปรตีนทางปัสสาวะ โดยที่ไตยังทำงานได้หรือมีการคั่งของเกลือจากภาวะไตวายก็ได้ อาการบวมมักเริ่มที่เท้าก่อน โดยอาจบวมไม่มากในตอนแรก แต่จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนบวมทั่วตัวได้ สำหรับอาการที่พบเมื่อเกิดภาวะไตวาย จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ซีด ชาตามปลายมือเท้า หายใจหอบลึก คันตามตัว ซึม ชัก  และหมดสติในที่สุด

ภาวะแทรกซ้อนทางไตป้องกันได้หรือไม่ ภาวะแทรกซ้อนทางไตสามารถป้องกันได้ หากสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ จะป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางไตได้ แต่ทั้งนี้การป้องกันต้องทำก่อนที่จะมีโปรตีนในปัสสาวะ หลังจากมีโปรตีนในปัสสาวะแล้วจะไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคไตได้ จะทำได้เพียงชะลอความเสื่อมของไตไม่ให้เกิดอย่างรวดเร็วเท่านั้น ฉะนั้นการควบคุมน้ำตาลในเลือดให้ได้ตั้งแต่ต้นจึงมีความสำคัญ นอกจากนั้นชนิดของยาลดน้ำตาลในเลือด ก็มีความสำคัญในการชะลอการเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวาน ข้อมูลการศึกษาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ยาลดน้ำตาลกลุ่มที่เรียกว่า SGLT2-inhibitors และ GLP-1RA ช่วยชะลอการเสื่อมของไตลงได้มาก อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มยาดังกล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์อายุรกรรม
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 08/04/2022

แพ็กเกจอื่นๆ