• banner

รู้จักกับโรคหลอดอาหารอักเสบ

หากคุณมีอาการรู้สึกเจ็บเวลากลืนอาหาร กลืนอาหารได้ลำบาก หรือเจ็บหน้าอกระหว่างรับประทานอาหาร แสบร้อนกลางอก นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนบอกว่าคุณกำลังเป็นโรคหลอดอาหารอักเสบแล้วล่ะคะ ว่าแต่อาการที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากอะไรและมีวิธีรักษาดูแลตัวเองได้อย่างไรบ้างนั้น วันนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากค่ะ

หลอดอาหารอักเสบ เป็นภาวะที่เกิดจากการอักเสบหรือการระคายเคืองของเยื่อบุภายในหลอดอาหาร จะทำให้เกิดอาการเจ็บเวลากลืนอาหารและมีอาการแสบร้อนกลางอก โดยมักมีสาเหตุมาจากกรดไหลย้อนจากการใช้ยาบางชนิด รวมถึงเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือไวรัสก็สามารถทำให้เกิดแผลในหลอดอาหารได้ หากไม่เข้ารับการรักษาหรือไปพบแพทย์ อาจส่งผลให้หลอดอาหารบวม แดงเป็นแผล ทะลุ หรือตีบในภายหลัง

อาการของโรคหลอดอาหารอักเสบ
โดยทั่วไปอาการของหลอดอาหารอักเสบที่พบได้บ่อย คือ
- กลืนอาหารลำบากหรือเจ็บเวลากลืน
- เจ็บหน้าอก แสบร้อนในช่องอก
- มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปากและคอ
- ไอ เจ็บคอ เสียงแหบแห้ง
- คลื่นไส้ อาเจียน

การวินิจฉัยโรคหลอดอาหารอักเสบ
แพทย์อาจตรวจร่างกายอย่างละเอียดและสอบถามประวัติการใช้ยาทุกชนิด รวมทั้งนำวิธีการทดสอบอื่น ๆ มาช่วยในการวินิจฉัยเพื่อให้เกิดความถูกต้องมากขึ้น เช่น
- การส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร เพื่อตรวจดูความผิดปกติหรืออาการอักเสบภายในหลอดอาหาร และตัดชิ้นเนื้อตรวจมาทดสอบการติดเชื้อโรคอย่างแบคทีเรีย ไวรัสและเชื้อรา
- การเอกซเรย์ระบบทางเดินอาหารส่วนบน หรือการกลืนแป้งแบเรียม เป็นวิธีที่ให้ผู้ป่วยดื่มแบเรียมซึ่งเป็นสารทึบรังสีหรือยาที่เคลือบด้วยแบเรียม ก่อนจะถ่ายภาพเอกซ์เรย์หลอดอาหาร  เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้น  

การรักษาโรคหลอดอาหารอักเสบ
การรักษาโรคหลอดอาหารอักเสบแตกต่างกันไปตามแต่ละสาเหตุ ซึ่งอาจมีวิธีการรักษาหลากหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น
- ให้ยาลดกรด
- ให้ยาฆ่าเชื้อรา ยาปฏิชีวนะ
- ยาแก้ปวด
- ยา steroid เพื่อลดการบวม
- สารอาหารทางน้ำเกลือหากขาดสารอาหาร    

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคหลอดอาหารอักเสบ โรคหลอดอาหารอักเสบเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันอาจช่วยบรรเทาอาการและลดความเสี่ยงของหลอดอาหารอักเสบได้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ดที่มีส่วนผสมของพริกสด พริกป่น หรือเครื่องแกง
- รับประทานอาหารอ่อนที่ง่ายต่อการกลืน
- เคี้ยวอาหารให้ละเอียดอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงการล้มตัวนอนหลังการรับประทานอาหาร ควรเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง จึงค่อยล้มตัวนอน
- ปรับหัวนอนให้สูงขึ้น
- หลีกเลี่ยงยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา
- ดื่มน้ำหลังรับประทานยาให้มากๆ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 20/05/2020

แพ็กเกจอื่นๆ