• banner

วัยหมดประจำเดือนและการให้ฮอร์โมนทดแทน

วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง (Menopause) คือ ช่วงอายุที่รังไข่ของผู้หญิงหยุดทำงาน หยุดการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงและหยุดการเจริญของไข่เพื่อการตกไข่ ทำให้ไม่มีประจำเดือน และหมดความสามารถในการมีบุตร โดยจะถือว่าผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเมื่อขาดประจำเดือนไปต่อเนื่องกันนานกว่า 1 ปี (โดยเฉลี่ยจะเข้าสู่วัยนี้เมื่ออายุ 50 – 51 ปี) โดยก่อนที่ประจำเดือนจะขาดไปอย่างถาวรนั้น จะมีช่วงที่ประจำเดือนเริ่มมาไม่สม่ำเสมอและมีอาการจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายต่างๆเกิดขึ้น เรียกช่วงนี้ว่า วัยใกล้หมดประจำเดือน (Perimenopause)

สตรีในวัยนี้มักจะมีปัญหาเฉพาะที่แตกต่างจากวัยอื่น ไม่ว่าจะเป็นอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกง่าย (Vasomotor symptoms, VMS) โดยเฉพาะเวลากลางคืน จากการทำงานแปรปรวนของระบบประสาทอัตโนมัติ เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงลดลง อาการทางช่องคลอด (Genitourinary syndrome of menopause, GSM) ช่องคลอดแห้ง แสบ ขาดสารหล่อลื่น เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ รวมถึงปัญหากระดูกหักจากภยันตรายที่ไม่รุนแรงอันมีสาเหตุมาจากโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ที่มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญนำไปสู่ปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเอง

ความสำคัญของการดูแลสุขภาพในวัยหมดประจำเดือน
  • เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายจากปัจจัยหลักสองอย่างร่วมกัน คือ ความเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น และการขาดฮอร์โมนเพศหญิง
  • โรคหลายโรคพบมากขึ้นในวัยนี้ การตรวจสุขภาพคัดกรองโรคจึงมีความสำคัญ เนื่องจากโรคหลายโรคสามารถรักษาได้ผลดี ถ้าตรวจพบและได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
  • อาการหลายๆ อาการ แม้ว่าเป็นอาการปกติที่เกิดได้ในวัยนี้ แต่ถ้ามีอาการมากอาจมีผลต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งมียารักษาหรือบรรเทาอาการให้ลดลงได้
  • การดูแลสุขภาพ เรื่องอาหาร และการออกกำลังกายมีความสำคัญ


สตรีวัยหมดประจำเดือนทุกคน ต้องได้รับฮอร์โมนทดแทนหรือไม่???
คำตอบคือ ไม่จำเป็น แพทย์จะพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทน เฉพาะกรณีที่มีข้อบ่งชี้ เช่นมีอาการร้อนวูบวาบ อาการทางช่องคลอดจากการขาดฮอร์โมน ป้องกันการหักของกระดูกจากกระดูกพรุน หรือ ในรายที่รังไข่หยุดทำงานก่อนกำหนด (Premature ovarian insufficiency, POI) ทำให้หมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติ (ก่อนอายุ 40 ปี) โดยก่อนที่แพทย์จะให้ฮอร์โมนนั้น จะต้องคำนึงถึงประโยชน์และความเสี่ยงจากฮอร์โมน ที่แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย อีกทั้งในปัจจุบันยังมีชนิดของฮอร์โมนที่หลากหลาย รูปแบบการใช้ที่แตกต่างกัน ทั้งแบบรับประทาน แบบทาเพื่อให้ดูดซึมไปทั่วร่างกาย แบบทาเฉพาะที่ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการจากการขาดฮอร์โมน แต่เป็นกลุ่มที่ไม่เหมาะสมที่จะให้ฮอร์โมนทดแทน ก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นยารักษาอาการที่ไม่มีฮอร์โมนเป็นส่วนประกอบให้เลือกอีกด้วย ดังนั้น หากท่านอยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน หรือ หมดประจำเดือนแล้ว และมีอาการที่อาจเกิดจากการขาดฮอร์โมน เช่น ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้งแสบ จึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมต่อไป


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์สุขภาพสตรี
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 11/04/2022

แพทย์ผู้เขียน

พญ. พิมพกา ชวนะเวสน์

img

ความถนัดเฉพาะทาง

แพทย์ทางด้านรักษาผู้มีบุตรยาก

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

-

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา

แพ็กเกจอื่นๆ