• banner

รู้หรือไม่? นั่งไขว่ห้าง อันตรายต่อร่างกาย

การนั่งไขว่ห้าง เป็นท่านั่งที่หลายคนชอบทำ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ทั้งในขณะทำงาน กินข้าว หรือนั่งเล่น แต่รู้หรือไม่ว่าการนั่งแบบนี้แม้จะดูสบาย แต่กลับส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก หากนั่งท่านี้เป็นเวลานานและบ่อยครั้ง

การนั่งไขว่ห้างเป็นท่านั่งที่ถ่ายน้ำหนักไปด้านใดด้านหนึ่งซ้ำ ๆ ส่งผลให้กระดูกสันหลังเกิดการผิดรูป คดงอ และอาจทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมได้ในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีผลกระทบอื่น ๆ ดังนี้
• เส้นประสาทและเส้นเลือดถูกกดทับ ทำให้เกิดอาการปวดขา ขาชา หรือชาบริเวณต้นขา เพราะเลือดไหลเวียนไม่สะดวก หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
• ต้นขาใหญ่ขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากเส้นเลือดบริเวณต้นขาถูกกดทับ เลือดไหลเวียนไม่ดี ทำให้เกิดการสะสมของไขมันบริเวณต้นขา
• นั่งไขว่ห้างอาจทำให้เส้นประสาทถูกกดทับ ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อขาและเข่า
• ปวดหลัง ปวดสะโพก และกระดูกเชิงกรานบิด จากการนั่งที่ไม่สมดุลและน้ำหนักถ่ายไปด้านใดด้านหนึ่งเป็นเวลานาน
• ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นชั่วคราว  โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง ควรระวังการนั่งไขว่ห้างนาน ๆ
• นั่งไขว่ห้างนานๆ อาจทำให้ข้อเข่าบิดหรือเอียงผิดธรรมชาติ เพิ่มแรงกดในบางจุด ถ้าทำบ่อย โดยเฉพาะในคนที่น้ำหนักเกินหรือข้อเข่าไม่แข็งแรง อาจทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น

หากชอบนั่งไขว่ห้างจนติดเป็นนิสัย ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังนี้
• สลับขาในการนั่งบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ข้างใดข้างหนึ่งแบกภาระมากเกินไป
• เปลี่ยนอิริยาบถและลุกเดินเป็นระยะ อย่างน้อยทุก 30 นาที เพื่อลดการกดทับเส้นเลือดและเส้นประสาท
• นั่งท่าที่ถูกต้อง นั่งบนเก้าอี้ โดยนั่งหลังตรง งอเข่า 90 องศา วางเท้าราบกับพื้น เพื่อช่วยรักษาสมดุลของร่างกายและลดแรงกดทับ
• ออกกำลังกายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลังและแกนกลางลำตัว เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและลดอาการปวดเมื่อย
• หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้างนาน ๆ โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูงหรือโรคหลอดเลือด

การนั่งไขว่ห้างแม้จะเป็นท่านั่งที่หลายคนชอบ แต่หากทำบ่อยและนานเกินไป จะส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก ทั้งกระดูกสันหลัง เส้นประสาท ระบบไหลเวียนเลือด และกล้ามเนื้อ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การสลับขานั่ง เปลี่ยนอิริยาบถ และนั่งท่าที่ถูกต้อง จะช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้และรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงได้ในระยะยาว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

โทร. 0 2265 7777
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคกระดูกและข้อ
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 24/06/2025

แพทย์ผู้เขียน

นพ. ณภัทร ประสิทธิ์มีบุญ

img

ความถนัดเฉพาะทาง

ศัลยแพทย์ทางด้านโรคกระดูกและข้อ

ความถนัดเฉพาะทางอื่น

เวชศาสตร์การกีฬา

ภาษาสื่อสาร

ไทย, อังกฤษ

ติดต่อเรา