
“โรคแพนิค” หรือโรคตื่นตระหนกเป็นโรคที่ทันยุคทันสมัย เรียกได้ว่าเป็นอาการที่เราอาจได้ยินบ่อยครั้งยิ่งขึ้นจากคนรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ชีวิตตามวิถีคนเมืองใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรคแพนิคก่อตัวขึ้นแบบที่เราไม่ทันได้รู้ตัวเลยทีเดียว
โรคแพนิค คืออะไร?
โรคแพนิค (Panic Disorder) คือ ภาวะตื่นตระหนกต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งโรคนี้แตกต่างจากอาการหวาดกลัวหรือกังวลทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยจะเกิดอาการแพนิค (Panic Attacks) หรือหวาดกลัวอย่างรุนแรง ทั้งที่ตัวเองไม่ได้เผชิญหน้าหรือตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย
อาการแพนิคสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคแพนิครู้สึกกลัวและละอาย เนื่องจากไม่สามารถควบคุมตัวเองหรือดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งและพบได้มากแต่คนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้จัก แม้กระทั่งเมื่อเป็นโรค ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดอาจไม่ทราบว่าอาการที่ผู้ป่วยแสดงออกนั้นเป็นอาการของโรคแพนิค
โรคแพนิคเกิดจากฮอร์โมนลดกะทันหัน ทำให้สารสื่อในสมองผิดปกติคล้ายกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ส่งผลประสาททำงานผิดพลาด สมองรวน ทำให้สมองหลั่งสารตื่นตระหนกออกมา หลังอาการแพนิคสงบลง ผู้ป่วยมักรู้สึกอ่อนเพลียไม่ค่อยมีแรงและกังวลว่าอาการจะกลับมากำเริบอีก
อาการของโรคแพนิค
- หายใจไม่อิ่ม หายใจตื้น
- ใจสั่น ใจหายวาบ เจ็บหน้าอก แน่นอก
- ตัวสั่น มือสั่น เหงื่อแตก หนาวๆร้อนๆ
- จุกแน่นในลำคอ คลื่นท้องไส้ปั่นป่วน
- วิงเวียน โคลงเคลง ชาตามร่างกาย คล้ายจะเป็นลม
- รู้สึกกลัวจนเหมือนควบคุมตนเองไม่ได้
สาเหตุของโรคแพนิค
การใช้ชีวิตที่ผันเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบัน ทำให้ผู้คนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เร่งรีบยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตตามกระแสสังคมได้ ซึ่งพฤติกรรมที่พบหลายอย่างพบว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคแพนิค เช่น การไม่ทานอาหารเช้าหรือทานอาหารอย่างเร่งรีบ ทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ พักผ่อนไม่เพียงพอ จริงจังและเคร่งครัดกับชีวิต อยู่ในสภาวะกดดันเป็นประจำ ไม่ออกกำลังกาย พฤติกรรมเหล่านี้เมื่อปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจะสร้างความเครียดสะสม
ในบางกรณีอาจจะเคยมีอดีตที่ฝังใจ เคยอกหัก สูญเสีย หรือมีเรื่องกระทบจิตใจอย่างรุนแรงมาก่อน นอกจากนี้อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ เคยมีประวัติญาติหรือคนในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน
ดังเช่นกรณีศึกษาของผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งที่ตัดสินใจมาพบจิตแพทย์ เนื่องจากรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจของตนเอง โดยผู้ป่วยเล่าถึงที่มาของอาการที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้ชีวิตที่หนักหน่วง ทั้งในเรื่องการเดินทางไปกลับกว่า 200 กิโลเมตรต่อวันเพราะต้องเดินทางไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดอยุธยา อีกทั้งการทำงานในบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีความเคร่งครัด มีระบบระเบียบ มีการดื่มสังสรรค์บ่อยครั้งหรือแทบจะทุกคืน น้ำหนักตัวพุ่งขึ้นกว่า 100 กิโลกรัม พักผ่อนไม่เพียงพอ และมีปัญหาสุขภาพตามมา จนทำให้สูญเสีย “สมดุลร่างกาย” เกิดภาวะที่วิตกกังวลเมื่ออยู่ในภาวะบีบคั้น เช่น การติดอยู่ในการจราจรที่ติดขัดโดยที่ไม่รู้สาเหตุ คาดเดาเหตุการณ์ไม่ได้ ทำให้เกิดอาการหายใจติดขัด เหงื่อออกที่มือ เท้า และหลัง ใจสั่นเหมือนจะขาดใจตาย
นอกจากนี้ ภาวะดังกล่าวยังทำให้เขาต้องเสียโอกาสด้านการทำงานเพราะต้องขอลาออกจากบริษัทถึง 2 บริษัท เนื่องจากทางบริษัทขอให้เดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลาอยู่บนเครื่องบินค่อนข้างนานกว่า 15 ชั่วโมง และเขารู้ตัวดีกว่านั่นเป็นภาวะที่เขาไม่สามารถทนรับได้ ทำให้ต้องใช้ชีวิตแบบหนีจากภาวะดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุดได้ตัดสินใจมาพบแพทย์ ซึ่งจิตแพทย์ได้ทำการประเมินอาการ และค้นหาสาเหตุ พร้อมให้ยาและจิตบำบัดโดยการพูดคุยเพื่อแนะนำหลักการใช้ชีวิตที่เหมาะสม
หลังจากนั้นเพียง 1 ปี ผู้ป่วยรายนี้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งกว่าเดิม โดยเขาได้เริ่มออกกำลังกายโดยการวิ่งอย่างจริงจังจนน้ำหนักตัวจากเดิม 102-105 กิโลกรัม ลดลงเหลือเพียง 79 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อร่างกายพร้อม จิตใจที่เคยเปราะบางก็กลับมาสู่ภาวะปกติได้อย่างเดิม
โรคแพนิคไม่มีอันตราย ไม่ทำให้ผู้ป่วยตายหรือเป็นโรคร้ายแรง แต่ทำให้เกิดความกังวลใจ ซึ่งข้อแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชในกรณีโรคแพนิค คือ การรู้เท่าทันอารมณ์ของตน หรือตามหลักพระพุทธศาสนาที่ได้กล่าวไว้เรื่องของการครองสติให้มั่น เพื่อให้เข้าใจภาวะปัจจุบันของตนเอง และหากไม่สามารถจัดการภาวะที่เกิดขึ้นได้ ข้อแนะนำอีกข้อที่สำคัญ คือ การปรึกษาจิตแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุของอาการและดำเนินการรักษาต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
คลินิกสุขภาพจิต
โทร. 0 2265 7777