• banner

อาการเวียนศีรษะและเสียการทรงตัวในผู้สูงอายุ

การสูญเสียการทรงตัวในผู้สูงวัยมักเกี่ยวข้องกับอาการเวียนศีรษะ โรคกระดูกและข้อเสื่อม กล้ามเนื้ออ่อนแรง ระบบประสาทรับสัมผัสเสื่อม โรคทางสมอง โรคทางจิตใจ หรือหลายสาเหตุรวมกัน ในผู้สูงวัยอาการเวียนศีรษะเป็นอาการเตือนซึ่งบอกเหตุที่รุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูง เสี่ยงกับการหกล้ม อ่อนแรง สมองเริ่มเสื่อม หรือหลายสาเหตุร่วมกัน

นอกจากนี้ผู้สูงวัยมักป่วยเป็นโรคเรื้อรังมากกว่าหนึ่งโรค จึงเป็นเหตุให้ต้องรับประทานยามากกว่าหนึ่งชนิดเช่นกัน ผู้สูงวัยบางรายไม่มีโรคเฉพาะที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เสียการทรงตัว อาจเป็นอาการที่ผู้ป่วยรู้สึกเอง และเปลี่ยนแปลงตามการแปรผลโดยทั้งผู้ป่วยเองและแพทย์ผู้ดูแล

อาการเวียนศีรษะและเสียการทรงตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุเบื้องหลังยังไม่เป็นที่สรุปได้ นอกจากสิ่งที่นักวิชาการหลายฝ่ายยืนยันตรงกัน คือ ผลกระทบที่ตามมาต่อสุขภาพร่างกาย อารมณ์จิตใจ และความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เกิดความเข้าใจผิด ๆ ว่าเป็นกลุ่มโรควัยชรา หมายถึง เมื่อสูงวัยก็จะเวียนศีรษะ แพทย์หลายท่านพยายามให้ผู้ป่วยปลงใจว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ซึ่งในความเป็นจริงอาจมีสาเหตุที่แก้ไขรักษาได้ หรืออาจเกิดมากจากปัจจัยต่าง ๆ ผสมกัน และในบางรายมีความซับซ้อน ซึ่งต้องร่วมมือกันคลี่คลายโดยผู้ป่วย ญาติ และแพทย์ผู้ดูแล

สาเหตุของอาการเวียนศีรษะ และเสียการทรงตัวในผู้สูงอายุ
  • การเปลี่ยนแปลงตามวัย คือ การเสื่อมประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาทรับสัมผัสและระบบประสาทควบคุมกล้ามเนื้อตลอดทางเดินประสาท และระบบกลไกการผสมผสานของสมองส่วนกลาง ตัวอย่างที่เด่นชัด คือ การสูญเสียเซลล์ประสาทรับสัมผัสของหูชั้นใน ซึ่งอาจเกิดจากพยาธิสภาพเล็กน้อย ได้แก่ การขาดเลือดหล่อเลี้ยง ซี่งพบบ่อยในผู้สูงวัย
  • พยาธิสภาพที่เกิดในทุกกลุ่มทุกอายุ แต่พบบ่อยขึ้นในผู้สูงวัย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงตามวัยทำให้พยาธิสภาพดังกล่าวเกิดง่ายขึ้น และเนื่องจากอายุยืน จึงมีโอกาสสัมผัสพยาธิสภาพได้นานกว่า โรคที่พบบ่อยชัดเจน คือ โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในทุกกลุ่มอายุและพบมากขึ้นในผู้สูงวัยจากการเสื่อมของในอวัยวะรับการทรงตัวในหูชั้นใน
  • ความหลากหลายและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต เพิ่มโอกาสให้เกิดอาการเวียนศีรษะและเสียการทรงตัวในผู้สูงอายุมากขึ้น มีปัจจัยมากมายทางสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตที่ทำให้การรับรู้สับสนและเสียการทรงตัว ปัจจัยสำคัญที่สุดที่พบบ่อย คือ การรับประทานยาหลายขนานและผลข้างเคียงของยา เนื่องจากมีโรคเรื้อรังหรือภาวะผิดปกติต่าง ๆ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสที่จะมีอาการจากปฎิกิริยาต่อกันของยา โดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท เช่น ยาต้านอาการซึมเศร้า ยากันชัก ยากล่อมประสาท เป็นต้น จะเพิ่มความเสี่ยงองการหกล้มในผู้สูงอายุทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะและเสียการทรงตัวในผู้สูงอายุ

หลักการรักษาอาการเวียนศีรษะและเสียการทรงตัวในผู้สูงอายุ
  • การรักษาตามอาการ ใช้ยากลุ่มออกฤทธิ์กดระบบประสาทการทรงตัวในหูชั้นใน เพื่อลดอาการมึนงง เวียนหมุนจากการเคลื่อนไหวศีรษะ
  • การรักษาเฉพาะโรคขึ้นกับสาเหตุของอาการเวียนศีรษะและเสียการทรงตัว โรคที่พบบ่อย ได้แก่ โรค BPPV โรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูชั้นในอักเสบ โรคความดันน้ำในหูชั้นในมากผิดปกติ หรือโรคเมนิแอร์ โรคอื่น ๆ เช่น ไมเกรน เป็นต้น
  • การฟื้นฟูการทรงตัว เป็นการจัดท่าเคลื่อนไหวในการบริหารร่างกายและการทรงตัวอย่างเป็นระบบ เพื่อฝึกฝนฟื้นฟูระบบประสาทการทรงตัว ลดอาการเวียนศีรษะและเสียการทรงตัว ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติให้มากที่สุด จัดการฝึกฝนโดยนักกายภาพบำบัด หรือนักกิจกรรมบำบัดที่เชี่ยวชาญพิเศษดูแลผู้สูงอายุ

ที่มาข้อมูล:
โดยนพ.จันทร์ชัย เจรียงประเสริฐ อายุรแพทย์ด้านโรคระบบประสาท
วิชัยยุทธจุลสารฉบับที่ 62 เดือนกันยายน – ธันวาคม 2558 หน้า 21-31

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
คลินิกโรคทางระบบประสาท
โทร. 0 2265 7777 
ศูนย์รักษา: ศูนย์โรคระบบประสาท
วัน/เดือน/ปี ที่โพสต์: 30/10/2019

แพ็กเกจอื่นๆ