เอกซเรย์พิเศษ

ให้บริการภาพเอกซเรย์ทั่วไป และการตรวจพิเศษด้วยสารทึบรังสี ทั้งแบบฉีดเข้าร่างกายที่เรียกว่า การฉีดสี และแบบใช้เคลือบผนังลำไส้ โดยการกลืน หรือสวนที่เรียกว่า “แป้ง” ซึ่งมีวิธีการตรวจและวิธีเตรียมตัวที่หลากหลาย

บริการ

  • การตรวจการกลืนอาหาร (Esophagogram)  โดยใช้สารทึบรังสี หรือแป้ง (Barium Sulfate - BaSO4) โดยการเอกซเรย์ขณะกลืนแป้ง เพื่อดูการเคลื่อนตัวของแป้งจากหลอดอาหารลงสู่กระเพาะอาหาร
    วิธีเตรียมตัว:  ผู้รับบริการไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า สามารถทำการตรวจพิเศษได้ทันที

  • การตรวจกระเพาะอาหาร (Upper G.I. study)  เป็นการกลืนแป้งเพื่อให้แป้งเคลือบผนัง กระเพาะอาหาร แล้วถ่ายเอกซเรย์ เพื่อตรวจผนังกระเพาะอาหารว่ามีอาการผิดปกติอะไรบ้าง เช่น มีแผล หรือมีก้อนที่ผนังกระเพาะอาหารหรือไม่
    วิธีเตรียมตัว:  งดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนก่อนถึงวันตรวจ หรืออย่างน้อย 6 ชั่วโมง

  • การตรวจลำไส้เล็ก (Small Bowel study)  เป็นการตรวจลำไส้เล็กโดยการกลืนแป้ง เพื่อให้แป้งไปเคลือบผนังลำไส้เล็ก เนื่องจากลำไส้เล็กเป็นอวัยวะที่มีความยาวมาก ต้องใช้เวลาในการตรวจโดยเอกซเรย์เป็นระยะ พร้อมกับกลืนแป้งไปด้วย (ช่วง 1 ชั่วโมงแรกเอกซเรย์ทุก 15 นาที ต่อมาเอกซเรย์ทุก 30 นาที) จนกระทั่งแป้งเคลือบหมดลำไส้เล็กเข้าสู่ลำไส้ใหญ่
    วิธีเตรียมตัว:  งดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนก่อนถึงวันตรวจ หรืออย่างน้อย 6 ชั่วโมง

  • การตรวจลำไส้ใหญ่ (Barium Enema)  เป็นการตรวจลำไส้ใหญ่โดยการสวนแป้งเข้าทางทวารหนัก เพื่อให้แป้งเคลือบผนังลำไส้ใหญ่ และใส่ลมเพื่อให้ลำไส้ขยายตัวคล้ายลูกโป่ง ทำให้เห็นผนังลำไส้ชัดเจน แล้วถ่ายเอกซเรย์ เนื่องจากลำไส้ใหญ่เป็นทางออกของอุจจาระ จึงมีอุจจาระมาก ทำให้บดบังผนังลำไส้ใหญ่ เพื่อให้เห็นผนังลำไส้ใหญ่ชัดเจน ต้องระบายอุจจาระออกให้มากที่สุด ดังนั้น ควรรับยาระบายพร้อมรับคำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนตรวจจากหน่วยรังสีวิทยา
    วิธีเตรียมตัว:
    1. งดผักและผลไม้ ก่อนวันตรวจ 2 วัน
    2. วิธีทานยาระบาย มี 2 สูตร ดังนี้
    2.1.  สูตรสำหรับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง หรืออายุน้อย  ก่อนวันตรวจ 1 วัน เวลา 16:00 น. ทานยาระบาย MgSO4 จำนวน 60 cc เวลา 17:00 น. ทานยาระบาย Dulcolax 3 เม็ด
    2.2.  สูตรสำหรับผู้สูงอายุ หรือมีอาการท้องเสียเป็นประจำ  ก่อนวันตรวจ 2 วัน วันแรกเวลา 16:00 น. ทานยาระบาย MOM จำนวน 60 cc และวันที่ 2 ก่อนวันตรวจ 1 วัน เวลา 16:00 น. ทานยาระบาย MOM จำนวน 60 cc 
    *ปริมาณยาระบายที่ให้อาจเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของคนไข้
    3. งดอาหารหลังเที่ยงคืนก่อนวันตรวจ แต่ดื่มน้ำได้ตามปกติ (กรณีไม่มีเจาะเลือด) หรืองดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืนก่อนวันตรวจ (กรณีมีเจาะเลือด)

  • การตรวจการทำงานของไต (IVP)  เป็นการฉีดสารทึบรังสีหรือการฉีดสีเข้าสู่เส้นเลือดแล้วเอกซเรย์ไต ซึ่งสารทึบรังสีนี้จะถูกขับถ่ายออกทางไต ดังนั้นจึงสามารถดูการขับถ่ายของเสียออกจากไต และดูขนาดของท่อไตได้ เนื่องจากสารทึบรังสีมีส่วนประกอบของไอโอดีน ที่มีอยู่ในอาหารทะเล ผู้ที่แพ้อาหารทะเลจึงเสี่ยงต่อการแพ้สารทึบรังสีเช่นกัน และผู้ที่ไม่เคยแพ้อาหารทะเลก็อาจแพ้สารทึบรังสีได้ ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมตัวที่ถูกวิธีจากหน่วยรังสีวิทยา เพื่อป้องกันอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นได้
    วิธีเตรียมตัว:  ก่อนวันตรวจ 1 วัน เวลา 8:00 น. ทาน Zantac 1 เม็ด และ Clarityne 1 เม็ดต่อมาเวลา 20:00 น.วันเดียวกัน ทาน Zantac 1 เม็ด หลังเที่ยงคืน งดน้ำและอาหาร วันที่มารับการตรวจ เวลา 8:00 น. ทาน Zantac 1 เม็ด และ Clarityne 1 เม็ดทานกับน้ำได้เล็กน้อย

  • การตรวจระบบสืบพันธุ์เพศหญิง (HSG)  การตรวจวิธีนี้ใช้ตรวจเพื่อหาความผิดปกติของมดลูกและท่อนำไข่ โดยการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในโพรงมดลูก ประกอบการถ่ายภาพรังสีวิธี
    วิธีเตรียมตัว:  ก่อนวันตรวจ 1 วัน เวลา 8:00 น. ทาน Zantac 1 เม็ด และ Clarityne 1 เม็ดต่อมาเวลา 20:00 น.วันเดียวกัน ทาน Zantac 1 เม็ด วันที่มารับการตรวจ เวลา 8:00 น. ทาน Zantac 1 เม็ด และ Clarityne 1 เม็ดทานกับน้ำได้เล็กน้อย ก่อนตรวจ เจ้าหน้าที่แผนกรังสีจะให้ทานยาแก้ปวด 1 เม็ด แนะนำให้ตรวจภายในระยะเวลา 10 วันหลังจากมีประจำเดือน โดยนับวันที่มีประจำเดือนวันแรกเป็นวันที่ 1

  • การตรวจหลอดเลือดทั่วร่างกาย (Angiography)  โดยการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือด พร้อมกับการถ่ายภาพเอกซเรย์ขณะสารทึบรังสีอยู่ในหลอดเลือด เพื่อหาความผิดปกติของหลอดเลือดในอวัยวะนั้นๆ การตรวจนี้ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ และเครื่องเอกซเรย์พิเศษเฉพาะทาง สามารถตรวจได้ทั้งเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำ
    วิธีเตรียมตัว:  แพทย์ผู้ตรวจจะเป็นผู้สั่งเตรียม

  • การตรวจรังสีร่วมรักษา (Interventional)  เป็นทั้งการตรวจวินิจฉัย และการรักษาโรคด้วยหัตถการ โดยรังสีแพทย์เฉพาะทาง เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัด ซึ่งการตรวจต้องใช้เครื่องมือพิเศษและเครื่องเอกซเรย์พิเศษเฉพาะเช่นเดียวกับการตรวจหลอดเลือด ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาความรู้โดยการใช้เครื่อง Ultrasound หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่วยในการเจาะดูด หรือตัดชิ้นเนื้อด้วย
    วิธีเตรียมตัว:  แพทย์ผู้ตรวจจะเป็นผู้สั่งเตรียม

วันและเวลาทำการ

วันจันทร์-อาทิตย์
 เวลา 07.30 – 19.00 น.


สถานที่
ชั้น 10 อาคารศูนย์การแพทย์วิชัยยุทธ
ชั้น 5 อาคารวิชัยยุทธเหนือ

ติดต่อสอบถาม

แพ็กเกจอื่นๆ